ข่าวกสิกรไทยเสิร์ฟ 2กองทุนชูผลตอบแทนสูง2% - kachon.com

กสิกรไทยเสิร์ฟ 2กองทุนชูผลตอบแทนสูง2%
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
นายนาวิน อินทรสมบัติ  รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุนต่างประเทศ   บลจ.กสิกรไทย  เปิดเผยว่าเตรียมขายกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 6 เดือน GC (KFF6MGC) ประมาณการผลตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนคาดว่าจะได้รับที่ 1.70% ต่อปี และกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ต่างประเทศ 1 ปี FR (KFF1YFR) ประมาณการผลตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนคาดว่าจะได้รับที่ 2 % ต่อปี ในระหว่างวันที่ 2 ม.ค. - 7 ม.ค.นี้  

สำหรับกองทุนที่เปิดเสนอขายในสัปดาห์นี้ประมาณการผลตอบแทนไว้สูงกว่าในรอบก่อนหน้า จึงเป็นโอกาสอันดีต่อการลงทุน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเข้าไปลงทุนในเงินฝาก Commercial Bank of Qatar และบัตรเงินฝาก Qatar National Bank, ประเทศกาตาร์ รวมถึงจะลงทุนในเงินฝากแบงก์ออฟไชน่า  และเงินฝาก Agricultural Bank of China, ประเทศจีน นอกจากนี้ยังคาดว่าจะลงทุนในเงินฝาก อาบูดาบี คอมเมอร์เชียลแบงก์  และเงินฝาก Union National Bank, ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยทั้ง 2 กองทุนดังกล่าวมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเต็มจำนวน และสำหรับผู้ลงทุนบุคคลธรรมดาไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งผู้ลงทุนสามารถลงทุนด้วยเงินขั้นต่ำเพียง 500 บาท

ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทย ยังได้เพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนต่อเนื่องให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนกับกองทุนตราสารหนี้แบบที่มีกำหนดอายุโครงการ (Term Fund)   ซึ่งเมื่อกองทุนครบกำหนดอายุโครงการ บริษัทจัดการจะนำเงินค่าขายคืนอัตโนมัติไปซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนใดกองทุนหนึ่งใน 3 กองทุน คือ กองทุนเปิดเค ตลาดเงิน (K-MONEY) กองทุนเปิดเค ตราสารรัฐระยะสั้น (K-TREASURY) หรือกองทุนเปิดเค ตราสารหนี้ระยะสั้น (K-SF)

ส่วนมุมมองเศรษฐกิจในปี 62  คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัว 2.3% โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง  ส่วนเศรษฐกิจจีนยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องหรือเติบโตเพียง  6.3%   โดยที่ผ่านมารัฐบาลจีนจะตอบโต้สถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรวดเร็วผ่านมาตรการทางการเงินและการคลังเพื่อประคองการเติบโตจึงไม่น่าเป็นห่วง โดยธนาคารกลางจีนจะยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่ต่ำ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ  อย่างไรก็ตาม ควรจับตาความผันผวนของค่าเงินเอเชียในระยะสั้นจากนโยบายทางการค้าและอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ รวมถึงนโยบายทางการเงินของรัฐบาลในเอเชียเพื่อรักษาความสมดุลระหว่างค่าเงินและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ