ไฮสปีด 3 สนามบินรอซีพียื่นข้อเสนอเพิ่ม
เศรษฐกิจ
เมื่อเวลา09.00น.วันที่21ธ.ค.ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลัง การประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน เชื่อม 3 สนามบิน สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. งบประมาณ 224,544.36 ล้านบาท ว่า คณะกรรมการฯ ได้มีรับทราบข้อเสนอ ซองที่ 4 (ข้อเสนอพิเศษ)ของ กลุ่มซีพี ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดในราคา117,227 ล้านบาท จาก 119,425ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการฯได้มีการเปิดซองไปแล้วในวันที่24 ธ.ค.61 ส่วนรายละเอียดที่ทางคณะกรรมการฯให้ซีพีเสนอเพิ่มเติมมาภายในวันที่27 ธ.ค.61 นั้น ซีพีฯยังไม่สามารถส่งได้ เนื่องจากติดช่วงเทศกาลปีใหม่ อีกทั้งเอกสารค่อนข้างเยอะ ดังนั้นคณะกรรมการฯจึงได้ยืดเวลาให้ซีพี ส่งข้อเสนอเพิ่มภายในวันที่ 9 ม.ค.62 นี้ หลังจากนั้นภายในวันที่15ม.ค.จะมีการประชุมรายละเอียด โดยจะพิจารณาข้อเสนอในซองที่4 และข้อเสนอเพิ่มเติม
ส่วนรายละเอียดแนวเส้นทางเดินรถไปสุดที่ระยองหรือไม่ก็ยังไม่สามารถบอกได้ ต้องรอคณะกรรมการพิจารณาก่อน ส่วนไทม์ไลน์ที่ทางคณะกรรมการกำหนดไว้ว่าจะลงนามสัญญาภายใน31 ม.ค. นั้น หากการเจรจาต่อรองยังไม่สิ้นสุดก็จะต้องบอกรัฐบาล และรายงานสถานการณ์ตามความเป็นจริง ซึ่งการเจรจาต่อรองใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานนั้นเป็นเรื่องปกติของรูปแบบให้เอกชนร่วมทุนฯอยู่แล้ว
นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า ส่วนการส่งมอบที่ดินเพื่อการพัฒนาเชิงพาณิชย์นั้น ภายในกลางเดือนม.ค.จะสามารถลงนามที่ปรึกษาดำเนินการเวนคืน โดยพื้นที่ที่จะส่งมอบให้เอกชนก่อนคือมักกะสัน จำนวน 100ไร่ และศรีราชา อีก 25 ไร่ และผู้ชนะการประมูลสามารถดำเนินการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ไปพร้อมๆ กับการก่อสร้างโครงการไฮสปีดเทรน ส่วนอีก 50ไร่บริเวณพวงรางของมักกะสันที่เหลือจะทยอยส่งมอบภายใน5 ปี
สำหรับสถานีรถไฟไฮสปีดเทรน จะมีทั้งหมด 15 สถานี ประกอบด้วย ในส่วนเมือง คือ สถานีดอนเมือง, บางซื่อ, พญาไท, ราชปรารภ, มักกะสัน, รามคำแหง, หัวหมาก, ทับช้าง, ลาดกระบัง, และสถานีสุวรรณภูมิ ส่วนสถานีรถไฟระหว่างเมือง จะมีสถานีฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ศรีราชา และพัทยา สิ้นสุดที่สถานีอู่ตะเภา