เปิดประมูลซ่อมท่าเรือระนอง ใช้งานนาน 18 ปีปรับโฉมรับเรือยักษ์
เศรษฐกิจ
เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ เปิดเผยความคืบหน้าการพัฒนาท่าเทียบเรือระนองว่า ขณะนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท. ได้เห็นชอบแผนการดำเนินโครงการซ่อมแซมปรับปรุงความเสียหายโครงสร้างท่าเทียบเรือ 1 และ 2 ใน วงเงิน 22 ล้านบาทแล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนการประมูลให้เอกชนเข้ามารับจ้างซ่อมแซมท่าเทียบเรือ พร้อมติดตั้งยางรองรับแรงกระแทก และจัดซื้อเครื่องมือทุ่นแรง ได้แก่ ปั่นจั่นหน้าท่า รถคานยกตู้สินค้า รถยกตู้สินค้า รถหัวลากพร้อมพ่วงลาก คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 62
เรือโท กมลศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันท่าเทียบเรือระนองมีสภาพชำรุดทรุดโทรม เนื่องจากถูกใช้งานมานาน 18 ปีแล้ว ดังนั้นการซ่อมแซมท่าเทียบเรือครั้งนี้ นอกจากจะปรับปรุงให้ดูใหม่แล้วยังจะพัฒนาให้เพิ่มประสิทธิภาพของท่าเรือให้รองรับปริมาณสินค้าและเรือขนาดใหญ่ที่ต้องการเข้าเทียบท่าได้มากขึ้น โดยท่าเทียบเรือที่ 1 จะขยายขีดความสามารถในการรองรับเรือจากขนาด 1,000 เดทเวทตัน เป็นขนาด 12,000 เดทเวทตัน และท่าเทียบเรือที่ 2 ขยายขีดความสามารถรองรับเรือจากขนาด 12,000 เดทเวทตัน เป็น ขนาด 22,000 เดทเวทตัน
รายงานข่าวแจ้งว่า กทท. มีแผนพัฒนาเท่าเทียบเรือระนอง โดยก่อสร้างท่าเทียบเรือ 3 ขนาดยาว 180 ม. กว้าง 30 ม. วงเงิน 5,465 ล้านบาท อยู่ในชั้นตอนเตรียมเสนอรัฐบาล เพื่อหาแหล่งเงินทุนมาดำเนินการ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก อย่างไรก็ตามท่าเรือระนองถือเป็นท่าเรือของรัฐเพียงแห่งเดียวที่อยู่ในพื้นทีภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน สามารถเชื่อมระบบการขนส่งชายฝั่งและการขนส่งต่อเนื่องทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ มีศักยภาพและขีดความสามารถในการเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าไปยังภูมิภาคใกล้เคียง ครอบคลุมพื้นที่ในกลุ่มประเทศ BIMSTEC โดยข้อมูลปี 60 ระบุว่า สัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่มาจากการประกอบการเกี่ยวกันสินค้า 75.56%
ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนที่จะผลักดันให้ท่าเรือระนอง เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลฝั่งอันดามัน โดยมีแผนงานที่จะพัฒนาระบบรางเข้ามาช่วยรองรับและเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่ง เพื่อรองรับการเป็นประตูสู่ BIMSTEC ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ให้ดีขึ้น สามารถขนถ่ายสินค้าได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากท่าเรือระนองตั้งอยู่บนเส้นทางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ สามารถช่วยร่นระยะทางและระยะเวลาในการเดินเรือไปยังเมียนมาและประเทศในแถบฝั่งอันดามัน หรือมหาสมุทรอินเดียลงประมาณ 3 เท่า เมื่อเทียบกับเส้นทางที่ผู้ประกอบการใช้ในปัจจุบัน ที่ต้องเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15-20 วัน และในอนาคตยังมีแผนจะขยายเส้นทางให้กลายเป็นจุดเชื่อมโยงสู่แอฟริกาใต้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกลุ่มประเทศ BIMSTEC หรือบิมสเทค ความร่วมมือภายใต้กรอบ BIMSTEC มีสมาชิกรวม 7 ประเทศ คือ บังคลาเทศ อินเดีย เมียนมา ศรีลังกา ไทย เนปาล และภูฏาน