ข่าวผนึกกำลังผลิตชิ้นส่วนรถไฟในไทย - kachon.com

ผนึกกำลังผลิตชิ้นส่วนรถไฟในไทย
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน และรักษาการผู้ว่า รฟท. พร้อมด้วยนายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อํานวยการสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ทำพิธีลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและส่งเสริมมาตรฐานการทดสอบสําหรับผลิตภัณฑ์ระบบรางระหว่าง รฟท. กับ สวทช. โดยนายวรวุฒิ กล่าวว่า ระบบรางมีบทบาทในการขนส่งของประเทศหลายระบบ ทั้งระบบรถไฟขนส่งในเมือง ระหว่างเมือง และรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) การลงนามครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนารถไฟยุคใหม่ เพื่อส่งเสริมมาตรฐาน และการทดสอบสําหรับผลิตภัณฑ์ระบบราง รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์รถไฟที่มีศักยภาพการผลิตในประเทศ เช่น วัสดุทางรถไฟ และวัสดุอื่นๆ

นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า การพัฒนาวิจัยจะเน้นที่ระบบทาง และเครื่องยนต์บางชิ้นที่สามารถผลิตเองได้ ซึ่งเมื่องานวิจัยเสร็จแล้วในระยะแรกอาจไม่ได้ช่วยลดต้นทุน แต่จะส่งเสริมการผลิตมากกว่า เช่น รถสินค้า ตัวโครงประทาน สปิง และเบรก เหล่านี้สามารถใช้เหล็กผลิตในประเทศได้ อย่างไรก็ตามการผลิตรถทั้งคัน คงเป็นไปได้ยาก แต่หากส่งเสริมให้ใช้สิ่งของภายในประเทศทำให้ต้นทุนเทียบเคียงกับที่นำเข้ามาจากต่างประเทศก็ประสบความสำเร็จแล้ว ส่วนการช่วยลดต้นทุนนั้นต้องดูในระยะยาวต่อไป อย่างไรก็ตามภายในปี 62 จะเร่งรัดร่างขอบเขตของการประกวดราคา (ทีโออาร์) เชิญชวนนานาชาติมาลงทุน และถ่ายทอดเทคโนโลยีเรื่องดังกล่าวต่อไป

ด้านนายณรงค์ กล่าวว่า สวทช. จะเข้ามาสนับสนุนเรื่องการวิเคราะห์และทดสอบ เพราะชิ้นส่วนต่างๆ จะต้องผ่านการวิเคราะห์และทดสอบ ซึ่งมาตรฐานต่างๆ ตามประกาศของ รฟท. นั้น สวทช. เคยให้การสนับสนุนวิเคราะห์และทดสอบแล้ว นอกจากนี้จะสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วในการยกระดับการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมอื่นเข้าอยู่ในระบบราง ทั้งนี้ระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัยนั้น คงขึ้นอยู่กับชิ้นส่วนของแต่ละประเภท ซึ่งหากเกี่ยวกับเครื่องจักร และเครื่องกล อาจใช้ระยะเวลาสั้นกว่าเรื่องที่เกี่ยวกับอิเลคทรอนิกส์ เพราะเครื่องจักร เครื่องกล ใช้ความรู้ที่เกี่ยวกับวัสดุศาสตร์ และการออกแบบ ส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีการวิเคราะห์ และทดสอบรายละเอียดที่ยุ่งยากมากขึ้น.