ดีมั้ย??ขึ้นทางด่วนก่อนจ่ายบิลทีหลัง
เศรษฐกิจ
สำหรับการป้องกันผู้ลักลอบใช้บริการฟรีนั้นจะมีระบบการลงทะเบียนยืนยันตัวตนผูกติดกับทะเบียนรถและบัญชีธนาคารที่เชื่อมกับระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ สามารถต่อยอดไปใช้ระบบอ่านป้ายทะเบียนยานพาหนะแล้วบันทึกค่าผ่านทางได้
นายเผด็จ กล่าวต่อว่า คาดว่าจะของบประมาณศึกษาปี63 ใช้เวลาศึกษา 10-12 เดือน โดยจะศึกษา 4 เรื่อง ประกอบด้วย1.จัดทำการบริหารจัดการให้มีหน่วยงานขึ้นมาบริหารจัดการระบบดังกล่าว เหมือนกับระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ(AFC) ที่ใช้กับบัตรแมงมุม2.พิจารณาเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้เพื่อตั้งระบบระยะเริ่มต้นและระยะยาวให้เป็นมาตรฐานกลางของประเทศในระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ3.พิจารณากฎหมายที่แก้ไขและเกี่ยวข้อง และ 4.พิจารณาแผนการปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์20 ปี (ปี 60-79)และต้องกำหนดระยะเปลี่ยนผ่านระบบจัดเก็บค่าผ่านทางที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ
นายเผด็จ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้ทั้งกรมทางหลวง(ทล.) และ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ต่างมีแผนดำเนินการแต่ไม่มีมาตรฐานกลางในรูปแบบการจัดเก็บค่าผ่านทางเพื่อไม่ให้ประชาชนที่ใช้บริการไม่เกิดความสับสน รวมทั้งอนาคตที่มีแผนก่อสร้างมอเตอร์เวย์และทางด่วนอีกหลายเส้นทางถ้าไม่มีมาตรฐานเดียวทำให้บริหารจัดการได้ยากประกอบกับปัจจุบันมีการใช้บัตรเอ็มพาสกับบัตรอีซี่พาสร่วมกันอยู่แต่ทางระบบเทคนิคยังไม่เสถียรมากนักเพราะเร่งดำเนินการ เช่นจำนวนค่าโดยสารไม่แสดงหรือแสดงข้อมูลช้าใช้งานไม่สมบูรณ์
ทั้งนี้ถ้าเปิดใช้บริการระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนใช้บริการมากขึ้นเพราะมีช่องจัดเก็บค่าผ่านทางเพิ่มขึ้น ทำให้สะดวกและช่วยลดปัญหาจราจรติดหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง ไม่ใช้ไม้กั้นหน้าด่านแต่ใช้ระบบวิ่งผ่านและตามเก็บค่าผ่านทางภายหลัง ต่างจากระบบบริหารจัดการจากเดิมต้องจ่ายค่าผ่านทางก่อนขึ้นใช้ทางด่วนอีกทั้งในอนาคตอาจจะนำบัตรแมงมุมมาใช้กับจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติด้วย