ดึง สวทช. สานฝันผลิตชิ้นส่วนราง การันตรีคุณภาพมาตรฐานไทยเป๊ะ
เศรษฐกิจ
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน และรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยและส่งเสริมมาตรฐานการทดสอบสําหรับผลิตภัณฑ์ระบบราง กับ นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อํานวยการสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ว่าระบบรางมีบทบาทในการชนส่งของประเทศหลายระบบ ทั้งระบบรถไฟขนส่งในเมือง ระหว่างเมือง และรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) การลงนามครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนารถไฟในยุคใหม่ เพื่อส่งเสริมมาตรฐานและการทดสอบสําหรับผลิตภัณฑ์ระบบราง ยกระดับผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับการพัฒนาด้านระบบรางในไทย รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบขนส่งทางรางไทยให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์รถไฟที่มีศักยภาพการผลิตในประเทศ เช่น วัสดุทางรถไฟ และวัสดุอื่นๆ
นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า การพัฒนาวิจัยเน้นที่ระบบทาง และระบบเครื่องยนต์บางชิ้นที่สามารถผลิตได้ ซึ่งเมื่องานวิจัยเสร็จแล้วในระยะแรกอาจจะไม่ได้ลดต้นทุน แต่จะส่งเสริมการผลิตมากกว่า เช่น รถสิ้นค้า ตัวโครงประทาน สปิง และเบรกสามารถใช้เหล็กผลิตในประเทศได้ อย่างไรก็ตามการผลิตทั้งคันนั้นเป็นไปได้ยาก แต่หากส่งเสริมให้ใช้สิ่งของภายในประเทศทำให้ต้นทุนเทียบเคียงกับที่นำเข้ามาจากต่างประเทศก็ประสบความสำเร็จแล้ว ส่วนการช่วยลดต้นทุนนั้นต้องดูในระยะยาวต่อไป อย่างไรก็ตามภายในปี 62 นี้ จะเร่งรัดร่างขอบเขตของการประกวดราคา (ทีโออาร์) เชิญชวนนานาชาติมาลงทุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีเรื่องดังกล่าวต่อไป
ด้านนายณรงค์ กล่าวว่า ส่วนแรกที่เข้ามาสนับสนุนคือการวิเคราะห์และทดสอบเพราะชิ้นส่วนต่างๆ จะต้องผ่านการวิเคราะห์และทดสอบ ฉะนั้นมาตรฐานต่างๆ ตามประกาศของ รฟท. จะมีส่วนที่ สวทช. เคยให้การสนับสนุนวิเคราะห์และทดสอบ นอกจากนั้นส่งเสริมที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา โดยต้องต่อยอดอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วในการยกระดับการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมอื่นเข้าอยู่ในระบบราง ถ้าทำได้ทั้งแง่การพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิต รวมทั้งวิเคราะห์และทดสอบเชื่อว่าสามารถให้ชิ้นส่วนเหล่านี้เข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมรางที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ คาดว่าระยะเวลาที่ใช้ในการวิจัยนั้นขึ้นอยู่กับชิ้นส่วนของแต่ละประเภทอาจจะมีอายุวิจัยแตกต่างกัน ซึ่งถ้าเกี่ยวกับเครื่องจักรเครื่องกลอาจใช้เวลาสั้นกว่าเพราะเป็นความรู้ที่เกี่ยวกับวัสดุศาสตร์และการออกแบบเป็นส่วนใหญ่ ส่วนแง่อีเล็กทรอนิกส์อาจใช้เวลามากขึ้น รวมทั้งวิเคราะห์และทดสอบที่จะยุ่งยากขึ้น