'อนันต์' ชี้ตลาดอสังหาฯ ปี 62 เข้าสู่สภาวะชะลอตัว
เศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์จะต้องระมัดระวัง เพราะหากพิจารณางบดุลของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะพบว่าตัวเลขสินทรัพย์และหนี้สินเพิ่มขึ้น แต่กำไรชะลอตัวลง เพราะมีสต็อกที่สร้างไว้ขายอยู่จำนวนมาก เนื่องจากยังไม่เกิดการโอนหรือส่งมอบได้ช้า อาจส่งผลต่อเงินทุนหมุนเวียน และเป็นห่วงว่าบริษัทอสังหาริมทรัพย์ช่วงที่ผ่านมา ที่รับคนจำนวนมากมารองรับการผลิต เช่น จาก 300 รายเพิ่มเป็น 500-1,000 ราย อาจทำให้มีภาระเพิ่มขึ้น และจะเกิดการปรับลดพนักงานได้เหมือนธุรกิจอื่นที่ประสบอยู่
"ทุก ๆ 8-10 ปี ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะก้าวเข้าสู่สภาวะชะลอตัว ซึ่งจะเกิดขึ้นในปีนี้ สะท้อนจากการปล่อยสินเชื่อทั้งสินเชื่อโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย จากเดิมได้สินเชื่อ 100 ล้านบาท อาจจะได้เพียง 50 ล้านบาท, อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) การส่งออก ชะลอตัวลง ส่วนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นบรรยากาศเศรษฐกิจโดยรวมอาจจะคึกคักหากมีการใช้เงินกันมากขึ้น แต่ภาคอสังหาริมทรัพย์อาจจะไม่ได้มีผลมากนัก ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาไม่มีการเลือกตั้งธุรกิจก็ยังมีการดำเนินงานกันต่อเนื่อง”
อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปีนี้แม้จะชะลอตัวลง แต่ไม่ได้แย่เหมือนสมัยวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 เพราะปัจจุบันสถาบันการเงินแข็งแกร่ง แม้จะมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงและหนี้เสียในภาคธุรกิจเอสเอ็มอี แต่ก็ยังมีโอกาสในบางทำเล ผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการลูกค้า และเชื่อว่าในที่สุดตลาดอสังหาริมทรัพย์จะปรับสู่จุดสมดุลได้ในระยะยาว