ข่าวคลอดแผนลดพลังงานขนส่งทางอากาศ - kachon.com

คลอดแผนลดพลังงานขนส่งทางอากาศ
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา ครั้งที่ 2 เพื่อเผยแพร่รายงานการศึกษาโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการและอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งทางอากาศว่า ที่ปรึกษาได้เสนอผลการศึกษามาตรการ และจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมการบริหารจัดการและอนุรักษ์พลังงานการขนส่งทางอากาศ แบ่งเป็น 3 ระยะ ในช่วง 20 ปี (ปี 62-80)

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า แผนมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย ระยะสั้น 3 ปี (ปี 62-64) ใช้มาตรการ อาทิ เปลี่ยนหลอดไฟ LED ในอาคารผู้โดยสาร, ปรับปรุงผนังอาคาร เช่น ติดฟิล์มกันความร้อน, ส่งเสริมการเดินทางเข้า-ออก ท่าอากาศยานโดยระบบขนส่งสาธารณะแทนรถยนต์ส่วนบุคคล, บริหารจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกในท่าอากาศยาน เพื่อประหยัดพลังงาน เช่น ใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติ แยกสวิทช์เปิด-ปิดไฟฟ้าส่องสว่าง และเปิด-ปิดไฟส่องสว่างลานจอดอากาศยาน เฉพาะช่วงอากาศยานเข้า-ออก

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า ระยะกลาง 5 ปี (ปี 65-70) อาทิ เปลี่ยนเครื่องปรับอากาศภายในอาคารผู้โดยสารเป็นรุ่นประหยัดพลังงาน, เปลี่ยนใช้รถโดยสารสาธารณะระบบไฟฟ้า (อีวี) รับส่งผู้โดยสาร, สร้างสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มเติมพื้นที่การบิน และระยะยาว 10 ปี (ปี 71-80) พัฒนาทักษะบุคลากรปฏิบัติในพื้นที่ท่าอากาศยาน ให้มีจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน อย่างไรก็ตามผลการศึกษาดังกล่าวมีข้อเสนอแนะว่า ควรสร้างมาตรการจูงใจให้เอกชนเข้าร่วมดำเนินการด้วย โดยให้ภาครัฐช่วยสนับสนุน เช่น  ลดภาษีอุปกรณ์บางชิ้น และให้รางวัลผู้ประกอบการสายการบินที่ให้การสนับสนุน และลดพลังงาน และปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ชัดเจน เป็นต้น

นายสราวุธ กล่าวด้วยว่า ผลการศึกษาดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือน ม.ค.62 จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคม และกระทรวงพลังงาน พิจารณา ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบ และมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติต่อไป อาทิ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. คาดว่าจะเริ่มนำร่องได้ในท่าอากาศยานที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากก่อน เช่น ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า การดำเนินการตามแผนมาตรการดังกล่าว จะทำให้อีก 20 ปีข้างหน้า หรือปี 80 ประหยัดการใช้พลังงานได้ 61,681 ตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (toe) และลดก๊าซเรือนกระจก 648,276 ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า หรือคิดเป็น 15% และ 25% เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่ไม่ได้ดำเนินการ อย่างไรก็ตามปี 73 ประเทศไทยตั้งเป้าหมายว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉพาะภาคขนส่งจะลดลง 31 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า แต่ทั้งนี้หากทุกหน่วยงานปฏิบัติตามแผนที่ สนข. กำหนดในทุกโหมดการเดินทาง คาดว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะลดลงถึง 33 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า.