ยกชุมชนคลองเตยเป็น'สมาร์ท คอมมูนิตี้'
เศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ณ องค์การฟอกหนัง (เดิม) ถนนริมทางรถไฟสายเก่า เขตคลองเตย กรุงเทพฯ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย หรือ Smart Community พร้อมชมห้องตัวอย่างโครงการฯ โดยมีนายสมศักดิ์ ห่มม่วง ประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ พร้อมด้วยผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ กทท.กระทรวงคมนาคม และประชาชนในชุมชนคลองเตยกว่า 300 คนเข้าร่วม
นายไพรินทร์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายต่อเนื่องในการแก้ปัญหาชุมชนแออัด ซึ่งเป็นบ่อเกิดของปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งความสกปรกตามทางเท้า มลภาวะ ยาเสพติดการไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียที่ดีเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค ดังนั้นการเปิดตัวโครงการดังกล่าวฯจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลสนับสนุนและผลักดันให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด เพราะรอคอยมายาวนานในการแก้ปัญหาชุมชนแออัดของชาวชุมชนคลองเตยบริเวณโดยรอบพื้นที่นอกเขตรั้วศุลกากรของ กทท. จำนวน 26 ชุมชน และชุมชนบริเวณใต้ทางด่วน 5 ชุมชน รวมประมาณ 13,000 ครัวเรือน โดยกทท.จะใช้พื้นที่องค์การฟอกหนังเดิม จำนวน 58 ไร่ พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนให้มีมาตรฐานและเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลางเมืองใหม่ในใจกลางเมือง
โครงการดังกล่าวฯประกอบด้วย อาคารพักอาศัยสูง 25 ชั้น ชั้นล่างเป็นพื้นที่จอดรถ และพื้นที่ส่วนกลาง ชั้น 1 ถึงชั้น 5 เป็นพื้นที่จอดรถ และพื้นที่ส่วนกลาง ชั้น 6 - 25 เป็นห้องพักอาศัยจำนวน 4 อาคาร ขนาดห้อง 33 ตารางเมตร อาคารละ 1,536 ยูนิต รวม 6,144 ยูนิต ตั้งอยู่ซอยตรีมิตร ติดถนนริมทางรถไฟสายเก่า ด้านหลังติดริมคลองพระโขนง โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบดูแลความปลอดภัยด้วยคีย์การ์ด เพื่อเข้าออกอาคารพักอาศัย ลิฟต์โดยสารอาคารละ 4 ชุด ลิฟต์ดับเพลิง อาคารละ 2 ชุด รวมถึงอาคารส่วนกลางสำหรับสำนักงาน สถานที่ราชการ อาคารจอดรถ พื้นที่ให้เช่า อาคารตลาด และ พื้นที่ให้เช่าขายสินค้า พื้นที่อาคารตลาด และช้อปปิ้งมอลล์อาคารโรงเรียนในชุมชน อาคารและพื้นที่ลานอเนกประสงค์อื่นๆ และพื้นที่สีเขียว
นายไพรินทร์ กล่าวต่อว่า กทท.ให้ทางเลือกสำหรับผู้พักอาศัยในชุมชนคลองเตยรับสิทธิประโยชน์จากโครงการฯ ได้ครอบครัวละ 1 สิทธิ จาก 3 ทางเลือก ได้แก่ 1.ห้องชุดขนาด 33 ตารางเมตร ในโครงการฯ เพื่ออยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่อยู่เดิม โดยอาจจะเก็บค่าเช่าในอัตราเดียวกับการเช่าพื้นที่ของกรมธนารักษ์ในสัญญาระยะยาว 30 ปี 2. ให้สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินเปล่า 1 แปลง ขนาด 19.5 ตารางวา ย่านหนองจอก มีนบุรี มูลค่าแปลงละ 200,000 บาท จำกัดจำนวน 2,140 แปลง และ 3. เงินทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตก้อนใหญ่ เพื่อใช้กลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดของตนเอง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาจำนวนเงินที่เหมาะสม ทั้งนี้กทท.จะลงพื้นที่เพื่อสำรวจสำมะโนประชากร รับฟังความต้องการของชาวชุมชน เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง ก่อนจะรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินการให้ตรงตามความต้องการต่อไป
นายไพรินทร์ กล่าวด้วยว่า โครงการดังกล่าวจะมีระบบขนส่งมวลชนอำนวยความสะดวก เช่น รถไฟสายเก่าที่จะทำเป็นรถไฟชุมชนหรือแทรม เพื่อขนคนจากพื้นที่คลองเตยออกไปยังสถานีมักกะสันและบางซื่อ เพื่อไปต่อรถไฟฟ้าสายต่างๆได้ รวมถึงในอนาคตจะมีรถโมโนเรลจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRTคลองเตย มาสิ้นสุดปลายทางที่โครงการฯ ทั้งนี้มั่นใจว่าโครงการฯจะช่วยแก้ปัญหาชุมชนตอลงเตยได้ดี และยังเป็นโครงการตัวอย่างสำหรับหน่วยราชการอื่นที่มีปัญหาชุมชนแออัดหรือการบุกรุกที่ดิน ทั้งนี้ได้ขอให้กทท.ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างอาคารแรกได้ในภายในปี62 และใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี น่าจะแล้วเสร็จและสามารถย้ายชุมชนขึ้นไปอยู่ในระยะแรกได้ในปี 65 จากนี้ไปกทท.จะนำแผนโครงการฯเสนอบอร์ด กทท.เพื่อของบประมาณการก่อสร้างประมาณ 7,500 ล้านบาท ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี(ครม.)ตามลำดับต่อไป
เรือโท กมลศักดิ์ กล่าวว่า จากการสำรวจความเห็นคนในชุมชนเบื้องต้นบางคนยังกังวลใจในการขึ้นอยู่อาศัยบนอาคารสูง เนื่องจากเคยอยู่ในที่ราบ ประกอบกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ต้องรับผิดชอบ จำนวนสมาชิกในครอบครัวที่มีหลายคน หรืออาชีพการงานที่เหมาะสม ซึ่ง กทท.จะเร่งประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับชุมชนโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม กทท.คงต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปี ในการขอคืนพื้นที่ชุมชนคลองเตย บนเนื้อที่ 199 - 3 - 73.80 ไร่ มูลค่าประมาณ 32,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.41 % ของพื้นที่ทั้งหมดของ กทท. จำนวน 2,353 เพื่อนำมาพัฒนาตามแผนแม่บทในการพัฒนาเป็นท่าเรืออัตโนมัติ ขณะเดียวกันยังมีพื้นที่ริมน้ำอีกประมาณ 400 ไร่ บริเวณโกดัง1-6 ซึ่ง กทท.จะทำเป็นสมาร์ทพอร์ท ประกอบด้วย ที่จอดเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ศูนย์การค้า ดิวตี้ฟรี วอเตอร์ไซด์ พื้นที่พักผ่อนลักษณะเดียวกับไอคอนสยามหรือเอเชียทีค ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมทุนในกิจการภาครัฐ(พีพีพี)ให้ศึกษาแผนแม่บทในภาพรวมเพิ่มเติมทั้งหมดและนำเสนออีกครั้ง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆนี้
ด้านนางประไพ สานุสันต์ ประธานองค์กรชุมชนเขตคลองเตย กล่าวว่า ชาวชุมชนคลองเตยไม่ได้ปฏิเสธโครงการที่จะพัฒนาพื้นที่ แต่หากรัฐตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ไม่มีใครขัดขวางความเจริญแน่นอน แต่ขอให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการอย่างแท้จริง เพื่อลดความกังวลใจและมีทางเลือกที่เหมาะสมกับคุณภาพชีวิตของแต่ละครอบครัว ทั้งนี้ทางชุมชนทุกแห่งได้รวมตัวกันทำหนังสอถึงนายไพรินทร์เพื่อให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น