เร่งเปิดวิ่งรถโดยสาร ตราด-เกาะกง-สีหนุวิลล์ หนุนเที่ยวไทย-กัมพูชา
เศรษฐกิจ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมการขนส่งสินค้าระหว่างชายแดน (NTFC) ว่า ที่ประชุมได้หารือการเปิดเดินรถโดยสารประจำทางระหว่างประเทศ ไทย-กัมพูชา เพิ่มเติมเส้นทาง ตราด-เกาะกง-สีหนุวิลล์ เพื่อรองรับแรงงานชาวกัมพูชาและนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางระหว่างไทยและกัมพูชา โดยให้บริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) ดำเนินการ เบื้องต้นแต่ละประเทศจะใช้รถโดยสารวันละ 2 เที่ยววิ่งไปกลับ โดยจะเป็นรูปแบบวิ่งสวนกัน ซึ่งเส้นทางนี้จะไม่มีปัญหาเพราะอยู่ในกรอบความตกลงว่าด้วย การขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาค ลุ่มแม่น้ำโขง (จีเอ็มเอส) อยู่แล้ว ส่วนอีกเส้นทาง คือ จันทบุรี-ด่านบ้านผักกาด-ไพลิน-พนมเปญ ซึ่งเส้นทางดังกล่าวไม่อยู่ในจีเอ็มเอส เพราะฉะนั้นจะไปขอเพิ่มเส้นทางในกรอบจีเอ็มเอสก่อน หรือไม่จะใช้วิธีเจรจากับกัมพูชาจะขอเปิดเส้นทางนี้ หากทั้งสองประเทศเห็นชอบจะทำเป็นความตกลงทั้งสองประเทศแทน โดยที่ไม่ต้องขอจีเอ็มเอส
นายอาคม กล่าวต่อว่า ทั้งนี้มอบให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ไปศึกษาทั้งสองเส้นทางหากเปิดแล้วได้ความนิยมจะเปิดให้ภาคเอกชนได้เข้ามาเดินรถด้วย รวมทั้งเพิ่มจำนวนรถและเที่ยววิ่ง อย่างไรก็ตามการเปิดทั้ง 2 เส้นทางนี้ เนื่องจากปัจจุบันแรงงานชาวกัมพูชาเดินทางทำงานที่ไทยจำนวนมาก และเดินทางแต่ละครั้งลำบาก ทำให้ไม่ได้รับความสะดวก เนื่องจากต้องนั่งหลายต่อ ประกอบกับนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่สนใจท่องเที่ยวทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและวิถีชีวิต หากเปิดทั้งสองเส้นทางจะช่วยอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งสองประเทศด้วย
นายอาคม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ได้หารือการเดินรถขนส่งสินค้าและรถโดยสารระหว่างไทย-เมียนมา เพื่อรองรับการเปิดสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งที่ผ่านมาไทยยังไม่มีข้อตกลงกับเมียนมาทำให้เดินรถขนส่งสินค้าข้ามชายแดนไปยังพื้นที่เศรษฐกิจของเมียนมาในระยะที่ใกล้ชายแดนเท่านั้น แต่เมื่อเปิดใช้สะพานแล้วทำให้การขนส่งสินค้าและขนส่งผู้โดยสารไปยังพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เริ่มตั้งแต่เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา ย่างกุ้ง-แม่สอด-มุกดาหาร และท่าเรือแหลมฉบัง เนื่องจากเมียนมาต้องอาศัยท่าเรือแหลมฉบังในการส่งออก ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่กว่าของเมียนมา
นายอาคม กล่าวด้วยว่า เพราะฉะนั้นได้ร่างความตกลงระหว่างไทย-เมียนมา ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (ซีบีทีเอ) ที่มีประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ จีนตอนใต้ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย เบื้องต้นเห็นชอบหลักการแล้ว แต่ต้องรอทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกัน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกประมาณ 1-2 เดือน จากนั้นทั้งสองประเทศต้องลงนามข้อตกลงต่อไป สำหรับโควตารถขนส่งสินค้าระหว่างไทย-เมียนมานี้ กำหนดไว้ที่ประเทศละ 100 คัน รวมทั้งรถบรรทุกขนส่งสินค้าท้องถิ่นของเมียนมาที่ใช้เฉพาะขนส่งสินค้าข้ามด่านพรมแดน ซึ่งปัจจุบันไทยข้ามไปฝั่งเมียมาได้ แต่รถท้องถิ่นเมียนมาข้ามมาฝั่งไทยไม่ได้ หากอนาคตจะให้รถท้องถิ่นข้ามมาไทยได้ก็ต่อเมื่อให้มีผลบังคับใช้เรื่องโควตานำรถบรรทุกและรถโดยสารเช่าเหมาประเทศละ 500 คันก่อน