ข่าว'แทรมภูเก็ต' ปรับแบบสร้างใต้ดิน - kachon.com

'แทรมภูเก็ต' ปรับแบบสร้างใต้ดิน
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 11 ม.ค. ที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ (ฝ่ายกลยุทธ์และแผน) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาการทดสอบความสนใจของภาคเอกชนและองค์กรปกครองท้องถิ่น (Market Sounding) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต หรือรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) ว่า งานเปิดทดสอบความสนใจโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ตเฟสที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กม. 21 สถานี งบประมาณ 34,000 ล้านบาท ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ได้เปิดทดสอบความสนใจของเอกชน จ.ภูเก็ต ซึ่งเสียงตอบรับค่อนข้างดี แต่เอกชนบางกลุ่มยังมีความกังวลถึงสภาพจราจรที่ติดขัด การนำแทรมภูเก็ตมาวิ่งร่วมกัน อาจทำให้รถติดมากยิ่งขึ้น

นายธีรพันธ์ กล่าวต่อว่า ซึ่งหลังจากที่ รฟม. รับผลการศึกษามาจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) แล้วจะปรับรูปแบบให้ลดผลกระทบกับประชาชนมากที่สุด ขณะนี้ได้มีบริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด (พีเคซีดี) ได้เชิญ รฟม. เข้าไปให้ข้อมูลโครงการแล้ว หลังเปิดทดสอบความเห็นของเอกชนแล้วเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะได้รับความสนใจจากบริษัทเอกชนเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ ตอนนี้มีบริษัทจากต่างประเทศทั้ง ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน จีน และไทย รวมถึงบริษัทเดินรถของไทยอย่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอส) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีอีเอ็ม) และบริษัทก่อสร้างของประเทศไทยให้ความสนใจเป็นอย่างมาก  



นายธีรพันธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (คชก.) ส่วนเรื่องการปรับรูปแบบส่วนที่ใช้ทางร่วมกับเขตทางของกรมทางหลวง (ทล.) ตามที่เสนอให้ก่อสร้างใต้ดินแทนระดับดินหรือยกระดับบริเวณจุดกลับรถ จำนวน 2 จุดนั้น ล่าสุด รฟม.พิจารณาแล้วว่าการสร้างใต้ดินจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยจะใช้งบประมาณเพิ่มจุดละ 500-800 ล้านบาท โดยจะทำอุโมงค์รูปแบบคล้ายๆ อุโมงค์รัชโยธิน อย่างไรก็ตามต้องหารือกับ ทล. อีกครั้ง เพื่อให้ได้ขอสรุปที่ชัดเจน หากปรับรูปแบบจะต้องเสนอในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพิ่มเติม เพื่อให้พิจารณาโครงการไปได้รวดเร็ว สำหรับแผนการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น คาคว่าจะสามารถเสนอได้ภายในกลางปี 62 นี้ จากนั้นจะจัดตั้งคณะกรรมการพีพีพี และสามารถเปิดประมูลได้ภายในต้นปี 63  และเริ่มก่อสร้างกลางปี 63 คาดว่าแล้วเสร็จภายในปี 66 สำหรับรูปแบบการลงทุนนั้นเป็นรูปแบบ PPP Net Cost โดยรัฐจะเป็นผู้จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสนับสนุนค่างานโยธาไม่เกิน 17,000-18,000 ล้านบาท ส่วนระยะเวลาสัปทาน 30 ปี ระยะเวลาก่อสร้าง 3-5 ปี รูปแบบก่อสร้างจะมีทั้งทางยกระดับและส่วนที่อยู่ใต้ดินจำนวน 3 จุด 

สำหรับค่าโดยสารตลอดเส้นทางช่วงสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลองจะอยู่ที่ 123 บาท ระยะทาง 48 กม. คิดเป็นค่าแรกเข้า 18 บาท จากนั้นคิดตามระยะทาง 2.5 บาท/กม. ส่วนค่าโดยสารในเขตตัวเมืองช่วงห้าแยกฉลอง-สถานีขนส่งภูเก็ต ระยะทาง 20 กม. ค่าโดยสารจะอยู่ที่ 18-68 บาท เวลาเดินทาง 32 นาที ขณะที่ค่าโดยสารช่วงสนามบินภูเก็ต-สถานีขนส่งภูเก็ต ระยะทาง 21 กม. จะอยู่ที่ราว 18-71 บาท เวลาเดินทาง 35 นาที รวมระยะเวลาเดินทางตลอดสาย 70 นาทีช่วงเวลาปกติและ 90-100 นาทีในช่วงเวลาเร่งด่วนช่วงเช้า-เย็น  สำหรับการประมาณการผู้โดยสาร ปีแรก (ปี66) จะมีผู้โดยสารใช้บริการประมาณ 33,190 คนต่อวัน และอีก 30 ปี ในปี 96 จะมีผู้โดยสารใช้บริการ 120,420 คนต่อวัน 



นายธีรพันธ์ กล่าวต่ออีกว่า ส่วนความคืบหน้าระบบขนส่งมวลชนในต่างจังหวัดที่อยู่ในความรับผิดชอบของ รฟม. จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-บิ๊กซีหางดง ) มี 12 สถานี 12.54 กม., พิษณุโลก สายสีแดง มหาวิทยาลัยพิษณุโลก-สถานีขนส่งแห่งที่ 2-แห่งที่ 1-วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ-ศาลากลาง-มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามทะเลแก้ว-หมู่บ้านพิษณุโลกเมืองใหม่ 12.6 กม. 15 สถานี และ นครราชสีมา สายสีเขียวเข้ม ตลาดเซฟวัน-ถนนมุขมนตรี-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ 11.17 กม. 18 สถานี โดย จ.เชียงใหม่ ขณะที่โครงการรถไฟรางเบา (แทรม) จ.เชียงใหม่ ขณะนี้ได้ตัวบริษัทที่จะเข้ามาศึกษาแนวทางการก่อสร้างและรูปแบบการลงทุนแล้วคาดว่าจะลงนามสัญญาภายในเดือนนี้

ขณะที่โครงการแทรม จ.นครราชสีมา วงเงิน 3.26 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนเตรียมเปิดประกวดราคาหาตัวเอกชนศึกษาโครงการ ทั้งสองโปรเจ็กส์นี้จะใช้เวลาศึกษา 6 เดือน หากไม่ติดปัญหาอะไรจะเริ่มเห็นความชัดเจนในการร่างทีโออาร์ในปีนี้ด้วยเช่นกัน ก่อนทยอยประมูลช่วงปลายปีนี้หรือช่วงต้นปีหน้า ส่วน จ.พิษณุโลก และนั้นจะเข้าคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ในวันที่ 25 ม.ค.นี้ เพื่อจัดเตรียม ร่างพระราชกฤษฎีกาให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดเบื้องต้นได้ และ รฟม. จะต้องดำเนินการจัดหาที่ปรึกษาโครงการ ใช้ระยะเวลา 3 เดือน ก่อนที่จะเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จในปี 63 เพื่อเข้าขบวนการประกวดราคา และก่อสร้างต่อไป