ชาวบ้านหวั่นดอนเมืองเฟส3ทำหูดับ
เศรษฐกิจ
นายศิโรตม์ กล่าวต่อว่า อีไอเอฉบับนี้ไม่ได้จัดทำขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงบางเรื่องในอีไอเอ ฉบับปี 43 เช่น รื้ออาคารบางส่วน เพื่อสร้างเป็นอาคารที่จอดรถ เป็นต้น อย่างไรก็ตามในการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ได้นำเสนอให้ประชาชนทราบแล้วว่าสนามบินดอนเมืองจะพัฒนา และปรับปรุงส่วนใดบ้าง ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีใครต่อต้าน แต่ประชาชนบางส่วนยังห่วงใยเรื่องเสียงดัง ดังนั้นในการรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 2 จะเป็นการนำเสนอผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบฯ โดยยืนยันอีกครั้งว่า ไม่มีผลกระทบเรื่องเสียง ทุกอย่างที่ดำเนินการในเฟส 3 เป็นไปตามทิศทาง และขอบเขตของอีไอเอปี 43 ยังคงมีเที่ยวบิน และระดับเสียงตามที่กำหนดไว้
นายศิโรตม์ กล่าวอีกว่า เรื่องผลกระทบต่างๆ ประเมินไว้ตั้งแต่การทำอีไอเอ ฉบับปี 43 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ได้เพิ่มเที่ยวบินให้มากขึ้น ยังคงปริมาณเท่ากับเมื่อครั้งที่อาคารผู้โดยสารซึ่งปัจจุบันปิดตัวอยู่เปิดให้บริการ ดังนั้นจะไม่มีผลกระทบ เพราะปรับปรุงเพื่ออำนวยความสะดวก และคืนขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารให้กลับมาเหมือนเดิม ซึ่งอยู่ที่ 40 ล้านคนต่อปี แต่สาเหตุที่เปลี่ยนแปลงอีไอเอ เพราะตอนที่ปิดสนามบินดอนเมือง และย้ายไปสนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงเจอเหตุการณ์น้ำท่วมสนามบินดอนเมือง ทำให้อาคาร และอุปกรณ์ต่างๆ เกิดสภาพทรุดโทรม อีกทั้งรูปแบบการเดินทางของผู้โดยสารก็เปลี่ยนไป ทำให้ต้องเพิ่มพื้นที่นอกเขตการบิน (แลนด์ไซด์) มากขึ้น รวมทั้งต้องมีอาคารเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับรถไฟฟ้าสายสีแดงที่ผ่านหน้าสนามบินดอนเมือง ซึ่งทุกอย่างก็ต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัย แต่ไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม.