ข่าวส่งออกเครื่องประดับทรุดชี้ราคาทองผันผวน - kachon.com

ส่งออกเครื่องประดับทรุดชี้ราคาทองผันผวน
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
นางดวงกมล  เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่อประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที  เปิดเผยว่า ยอดการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 11 เดือนของปี 61 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่า 11,101.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7.72% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 355,056 ล้านบาท ลดลง 13.18%  แต่หากหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกมีมูลค่า 7,133.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.29% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 228,339 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.07%
 
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการส่งออกเป็นรายสินค้า พบว่า เครื่องประดับทอง ส่งออกได้เพิ่มขึ้น11.22% เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 5.09% เพชรเจียระไน เพิ่ม 6.91% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 0.96%และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มขึ้น 3.94% ส่วนทองคำลดลง 26.27% และเครื่องประดับแพลทินัม ลดลง 0.37%  ส่วนตลาดส่งออกที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด ได้แก่ จีน เพิ่มขึ้น 31.06% เพราะส่งออกเครื่องประดับเงินได้มากขึ้นถึง 38.96% รองลงมา คือ สหรัฐฯ เพิ่ม 15.34% จากการส่งออกเครื่องประดับเงินและทอง  อาเซียน เพิ่ม 14.64% จากการส่งออกไปสิงคโปร์และเวียดนามเพิ่มขึ้น  เป็นต้น
 
 “การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในช่วง 11 เดือน หากหักทองคำออก ถือว่ายังเติบโตได้ดี แต่ตลาดภายในประเทศ เติบโตกว่า มีมูลค่าการค้าสูงกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค บวกกับมีแรงซื้อจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยกว่า 34 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8% แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะลดลง แต่ก็ไม่กระทบกำลังซื้อ ทำให้การค้าขายอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศยังโตได้ดี”
 
 
สำหรับแนวโน้มการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2562 สถาบันฯ ประเมินว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นทั้งการส่งออก และการค้าภายในประเทศ โดยในด้านส่งออก ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้า ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมถึงการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) อย่างใกล้ชิด เพราะจะมีผลต่อการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ส่วนในประเทศน่าจะดีขึ้น จากการที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
 
 
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะต้องเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า โดยหันไปใช้ช่องทางออนไลน์ และช่องทางโซเซียลมีเดียเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นช่องทางที่ทรงพลัง และมีต้นทุนต่ำ แต่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มาก และในการจำหน่าย ควรจะเพิ่มใบรับรองคุณภาพมาตรฐานสินค้าประกอบ เพื่อให้ผู้ซื้อมีความมั่นใจ ซึ่งสถาบันฯ พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในจุดนี้ ขณะเดียวกัน ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้า โดยใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย หรือนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและขายสินค้าได้ดีขึ้น