ข่าวดันเสื้อผ้าสับปะรดเป็นสินค้าส่งออก - kachon.com

ดันเสื้อผ้าสับปะรดเป็นสินค้าส่งออก
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ   เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯอยู่ระหว่างการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในระดับชุมชนพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและมีมาตรฐาน โดยกลุ่มผู้ผลิตเสื้อผ้าจากใยสับปะรดถือเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของสินค้าท้องถิ่นที่มีการดัดแปลงจนสามารถผลักดันให้กลายเป็นสินค้าส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ผลิต และสร้างรายได้แก่ชาวสวนผู้ปลูกสับปะรด ตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  รมว.พาณิชย์ ที่ได้กำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนและการสร้างงานสร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากเส้นใยสับปะรดมีความหลากหลาย เช่น ผ้ารองจาน พรม กระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า เป็นต้น


ทั้งนี้ คุณสมบัติที่โดดเด่นของใยสับปะรด คือความเหนียว ทนทาน สามารถนำมาผลิตเป็นสินค้าคุณภาพดีอีกทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อกรมฯ ได้พาผู้ประกอบการออกงานแสดงสินค้าของทางกรมฯ  จึงได้รับความสนใจจากลูกค้าต่างประเทศเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งมีการสั่งจองล่วงหน้าเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศทันที
 
“สินค้าที่ผลิตจากเส้นใยสับปะรด ถือเป็นสินค้าที่ช่วยลดมลพิษของเสียจากวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตร ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและให้การสนับสนุนอย่างมาก และปัจจุบันหลายหน่วยงานได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในการนำใบสับปะรดมาพัฒนาปั่นเป็นเส้นใยธรรมชาติสู่การผลิตสิ่งทอ เพื่อลดระยะเวลา และรักษาคุณภาพมาตรฐานของเส้นใย ถือเป็นเรื่องที่ดีและน่าภูมิใจที่ท้องถิ่นได้มีการยกระดับขีดความสามารถเพื่อพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพสูงขึ้น  ส่วนแนวทางส่งเสริมนั้นทางกรมได้ให้ความสำคัญด้านความรู้ การพัฒนารูปแบบ และดีไซน์ การสร้างแบรนด์สินค้า และการช่วยหาตลาดสินค้าเพิ่มเติมโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว  เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
 
ด้าน นางปริยากร ธรรมพุทธสิริ ผู้ผลิตและจำหน่าย หจก.รักษ์บ้านเรา สงขลา หนึ่งในผู้ประกอบการท้องถิ่นที่เคยเข้าร่วมโครงการต้นกล้าทูโกล กล่าวว่า จังหวัดสงขลามีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ขึ้นชื่ออยู่อย่างหนึ่งนั่นคือผ้าขาวม้าเกาะยอ และตนเองก็ได้ประกอบกิจการเกี่ยวกับผ้าขาวม้าทั้งเป็นผู้ผลิตผ้าและแปรรูปเป็นเสื้อผ้าลายผ้าขาวม้า จากนั้นก็ได้เข้าอบรมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่จังหวัดสงขลา และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  โดยหลังจากที่ได้เข้ารับการอบรมกับสถาบันเอ็นอีเอ ทำให้ได้รับความรู้และมองเห็นจุดบกพร่องของผลิตภัณฑ์ จึงเร่งดำเนินการแก้ไข และพัฒนาต่อยอดจนทำให้กรมสนใจและเชิญชวนกลุ่มตนเข้าร่วมแสดงสินค้าในงานสไตล์ บางกอก ทำให้ความฝันที่จะส่งสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศกลายเป็นความจริงขึ้นมาในทันที เพราะมีหลายประเทศให้ความสนใจ อาทิ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และสวิสเซอร์แลนด์ ฯลฯ และมียอดสั่งจองสินค้าไว้ล่วงหน้าจำนวนมาก