ระงับไฮสปีดกรุงเทพ-หัวหิน หวั่นเอกชนเมินลงทุนไม่คุ้ม
เศรษฐกิจ
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมแจ้งว่า กรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างประกวดราคาสัญญาจ้างเอกชนเข้ามาศึกษาแผนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม3สนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา(อีอีซี)เฟส2ช่วงอู่ตะเภา-ตราดระยะทาง 300-400กม.งบประมาณมากกว่า3แสนล้านบาทนั้น รฟท.ได้ระบุในข้อเสนอการว่าจ้างให้บริษัทที่ชนะประมูลไปศึกษาแนวทางให้เอกชนที่เดินรถเฟส1ช่วงกรุงเทพ-อู่ตะเภา เข้ามาเดินรถในเฟส 2 ด้วย โดยไม่ต้องเปิดประมูล เพื่อความสะดวกสบายของประชาชนหรืออาจมีการจ้างเอกชนรายเดิมเดินรถเหมือนกับ กรณีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปัจจุบันถือว่าการว่าจ้างที่ปรึกษาเข้ามาดูภาพรวมของโครงการเฟส 2 ถือว่าล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากขั้นตอนจัดซื้อที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายใหม่และเจ้าหน้าที่ขาดประสบการณ์ ดังนั้น รฟท.จึงตั้งเป้าลงนามสัญญาว่าจ้างให้ได้ภายในสิ้นเดือน ม.ค.หรืออย่างช้าต้นเดือน ก.พ.62
รายงานข่าวแจ้งต่อว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-หัวหิน ระยะทาง 209 กม. วงเงินลงทุน 1 แสนล้านบาทนั้น รฟท. ได้สั่งชะลอโครงการออกไปก่อน เนื่องจากพบว่าระยะทางดังกล่าวไม่คุ้มค่าในการลงทุนเกรงว่า เอกชนจะไม่สนใจโครงการจึงต้องการพัฒนาเป็นเส้นทางสายยาวแทนช่วงกรุงเทพ-สุราษฎร์ธานีระยะทาง 635 กม. วงเงินลงทุนมากกว่า 6 แสนล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการของบประมาณจ้างเอกชนเข้ามาศึกษาคาดว่าจะเริ่มศึกษาได้ในปี 63 ทั้งนี้เส้นทางดังกล่าวถือว่าเป็นรถไฟไฮสปีดสายยาวใช้วงเงินลงทุนเยอะ จึงไม่แน่ใจว่าฝ่ายนโยบายในอนาคตจะยังเดินหน้ารถไฟไฮสปีดสายใต้ต่อหรือไม่และหากจะลดเส้นทางเหลือแค่ช่วงกรุงเทพ-ประจวบคีรีขันธ์ หรือ กรุงเทพ-ชุมพร ก็ยังคงไม่สะท้อนความคุ้มค่าเท่ากับสิ้นสุดสถานีสุดท้ายที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพราะถือเป็นประตูการท่องเที่ยวภาคใต้