ข่าวรมว.คมนาคมเผยยังไม่มีแผนลดใช้น้ำมันดีเซล - kachon.com

รมว.คมนาคมเผยยังไม่มีแผนลดใช้น้ำมันดีเซล
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s




เมื่อเวลา09.30 น. วันที่ 21 ม.ค. ที่โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ โฮเต็ล กรุงเทพฯ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธานพิธีปิดสัมมนาโครงการการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการบรรเทาผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการขนส่งทางบกของภูมิภาคอาเซียน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่องความสำคัญของภาคการขนส่งต่อการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า  ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอันดับที่20 ของโลกและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศและการคมนาคมขนส่งซึ่งส่งผลกระทบต่อภูมิอากาศโดยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มาจากภาคการขนส่ง 60% ภาคอุตสาหกรรม 35%และการก่อสร้าง 5%

ขณะเดียวกันยอดจดทะเบียนสะสมจำนวนรถยนต์ทุกประเภทในปี61 พบว่ามี 39.5 ล้านคัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปีละ 1.3-1.4 ล้านคัน และพบว่าในปี59 ประเทศไทยมีปัญหาการจราจรติดขัดอันดับ 1 ของโลก ใช้เวลารถติดบนท้องถนนเฉลี่ย 61ชม.ต่อปี  ขณะที่ปี 60 ใช้เวลา 56 ชม.ต่อปีทำให้สภาพรถติดดีขึ้น 5 ชม.ต่อปีเมื่อเทียบกับปี 59เพราะมาจากการบริหารจัดการจราจรให้รถเคลื่อนตัวดีขึ้น

นายอาคม กล่าวต่อว่า ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลยังต้องเผชิญกับภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)กระทรวงคมนาคมได้ออกมาตรการให้พื้นที่การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในหลายเส้นทาง เช่นสายสีเขียว สีส้ม สีชมพู สีเหลือง สีแดงและสถานีกลางบางซื่อ  ลดกิจกรรมก่อสร้างเพื่อลดปัญหา  ยืนยันว่าเป็นการขอความร่วมมือให้ลดกิจกรรมไม่ใช่หยุดการก่อสร้างโดยเป็นการปรับแผนการก่อสร้างเพื่อลดการเกิดฝุ่นละอองโดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเนื่องจากขณะนี้ยังมีการขุดอุโมงค์อยู่ โดยเมื่อพ้นเดือน ก.พ.62หากกลับเข้าสู่ภาวะปกติจะสามารถดำเนินกิจกรรมต่อได้

นายอาคม กล่าวอีกว่า อนาคตมีแผนลดการใช้น้ำมันดีเซลเพื่อลดมลพิษต้องหารือร่วมกับกระทรวงพลังงานเนื่องจากปัจจุบันรถบางรุ่นยังจำเป็นต้องใช้อยู่เช่นในภาคการขนส่ง อาจต้องพิจารณาในระยะยาวจะทำอย่างไรให้ ดีเซลเป็นน้ำมันสะอาดเพราะจำนวนรถที่ใช้มันมันดีเซลมีปริมาณมาก กว่าต่างประเทศ ทั้งรถยนต์กระบะรถยนต์ส่วนบุคคล และรถสาธารณะ ขณะเดียวกันการใช้แนวทางการวิ่งสลับวันให้บริการของรถเมล์เพื่อลดมลพิษเช่นเดียวกับต่างประเทศมองว่าไทยยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการดังกล่าวอีกทั้งต้องพิจารณาพื้นที่ และปริมาณของผู้โดยสารและจะต้องพิจารณาการบังคับใช้ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด