ข่าวเปิดเดินรถเส้นใหม่'สุโขทัย-หลวงพระบาง' - kachon.com

เปิดเดินรถเส้นใหม่'สุโขทัย-หลวงพระบาง'
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เกี่ยวกับการขนส่งทางถนน เพื่อหาแนวทางพัฒนาเชื่อมต่อระบบขนส่งระหว่างประเทศไทย และสปป.ลาว ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่ สปป.ลาว โดยที่ประชุมมีมติร่วมกันว่า จะเร่งผลักดันการเปิดเส้นทางเดินรถโดยสารประจำทางใหม่ เส้นทาง นครพนม(ไทย)-ท่าแขก(ลาว)-ฮาติงห์ (เวียดนาม) เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว 3 ประเทศ หลังจากหารือเรื่องนี้มานาน 2-3 ปีแล้ว

นายกมล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เตรียมเปิดเส้นทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกของทั้ง 2 ประเทศ ได้แก่ สุโขทัย-พิษณุโลก-อุตรดิตถ์-ภูดู่ (ไทย)-ภูดู่(ลาว)-ไซยะบุลี-หลวงพระบาง รวมทั้งเส้นทางการท่องเที่ยวอีก 8 เส้นทาง ได้แก่ ไซยะบุลี-น่าน, ไซยะบุลี-เลย, อุดมไซ-น่าน, หลวงน้ำทา-เชียงใหม่, อุดมไซ-น่าน-เชียงราย, ปากเซ-พัทยา, สะหวันนะเขต-กรุงเทพฯ และ ท่าแขก-กรุงเทพฯ โดยหลังจากนี้จะเร่งหารือกันอย่างต่อเนื่อง เพราะจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้โดยสารอย่างมาก ทั้งนี้ได้มอบให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เป็นผู้ดูแลเรื่องการเดินรถระหว่างประเทศ เพื่อมาตรฐานและความปลอดภัย

นายกมล กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังมีมติให้ปรับปรุงเส้นทางเดินรถโดยสารใน สปป.ลาวหลายเส้นทาง โดยมอบให้ บขส. ไปหารือกับภาคธุรกิจเอกชนที่ได้รับการเดินรถฝั่ง สปป.ลาว เพื่อพิจารณารายละเอียดแต่ละเส้นทางตามความเหมาะสม โดยเฉพาะในเส้นทางที่จะไปเวียงจันทน์ อาจต้องเพิ่มจุดรับส่งผู้โดยสารใน สปป.ลาวให้มากขึ้น พร้อมกันนี้อาจต้องเพิ่มจุดรับส่งผู้โดยสารภายในท่าอากาศยานอุดรธานีด้วย เพราะปัจจุบันมีผู้โดยสารจากฝั่ง สปป.ลาวมาใช้บริการท่าอากาศยานอุดรธานีเป็นจำนวนมาก เนื่องจากค่าตั๋วเครื่องบินถูกกว่าขึ้นที่ท่าอากาศยานเวียงจันทน์มาก จึงจำเป็นต้องพิจารณาจัดรถรับส่งผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานอุดรธานีด้วย

นายกมล กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้หารือถึงแผนการแก้ไขปัญหาจราจรหน้าด่านชายแดน และการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า ซึ่งขณะนี้มีแผนพัฒนาโครงการจุดตรวจร่วม(Common Control Area หรือ CCA) แบบวันสต็อปเซอร์วิส ร่วมกับ สปป.ลาว โดยใช้พื้นที่ปฏิบัติงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ไทย และเจ้าหน้าที่ ลาว ทำให้สามารถตรวจสอบสินค้า และขั้นตอนศุลกากรได้ภายในครั้งเดียว ไม่ต้องตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อข้ามชายแดนเหมือนในอดีต

นายกมล กล่าวอีกว่า เบื้องต้นจะนำร่องประเทศละ 1 แห่ง ที่ด่านพรมแดนมุกดาหาร(สะพานมิตรภาพ 2) ไทย และที่ด่านสากลขัวมิตรภาพ 2 ของแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว โดยตั้งอยู่ด้านขาเข้าของแต่ละประเทศ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของอีกฝ่ายหนึ่งร่วมตรวจเป็นสินค้าขาออก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่ง ค่าใช้จ่าย ลดระยะเวลาในการตรวจครั้งเดียว ไม่ต้องเสียเวลา อำนวยความสะดวก และบริหารจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่าน อย่างไรก็ตามในอนาคตจะขยายผลโครงการจุดตรวจร่วมไปใช้ในด่านพรมแดนอื่นๆ ต่อไป ทั้งในสปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา แต่ต้องขึ้นอยู่กับความตกลงของแต่ละประเทศด้วย.