ข่าวคาดกิจกรรมทางการเมือง ดึงเงินสะพัด50,000ล้านบาท - kachon.com

คาดกิจกรรมทางการเมือง ดึงเงินสะพัด50,000ล้านบาท
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า  การประกาศวันเลือกตั้ง 24 มี.ค. ที่ชัดเจนของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)  ทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนเพิ่มขึ้น  ซึ่งส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คาดว่าจากนี้ไปจะมีกิจกรรมทางการเมืองเพิ่มและ ทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจจากกิจกรรมหาเสียงประมาณ 30,000-50,000 ล้านบาท และจะส่งผลกระตุ้นจีดีพีของประเทศขยายตัวประมาณ 0.2-0.3%  

ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่รอความชัดเจนว่าสงครามการค้าสหรัฐกับจีนนั้น  คาดว่ากระทรวงการคลังจะใช้มาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต)  5 %  ช่วงเทศกาลตรุษจีน  ซึ่งใช้เงินประมาณ 7,000 ล้านบาท ในช่วงที่มีการจับจ่ายใช้สอยช่วงตรุษจีนและคืนเงินภาษีแวตผ่านบัตรเดบิตของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการนี้ โดยจะต้องมีการลงทะเบียนก่อนนั้น เชื่อว่าจะส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศได้ แต่ขณะนี้ยังขาดการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้มากนัก จึงเป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังจะต้องเร่งดำเนินการเป็นการเร่งด่วน  เพราะปกติมีเงินสะพัดเทศกาลตรุษจีนอยู่แล้ว 100,000 ล้านบาท และจากมาตรการเสริมของรัฐในช่วงเทศกาลตรุษจีนจะทำให้เม็ดเงินสะพัดเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท 
 
“ หากได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น ดังนั้น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี นี้จะขยายตัวในกรอบ  4-4.5%  ภายใต้สมมติฐานไม่มีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก แต่ความเป็นไปได้ว่าโอกาสการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยน่าจะขยายตัว  4.2% “  

นอกจากนี้ ทางศูนย์ฯ ได้จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Modern Trade ประจำไตรมาส 4 /61 พบว่ากลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มองว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบดีต่อธุรกิจ คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่องช่วงปลายปีและเทศกาลปีใหม่ ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเพิ่ม  รวมถึง นโยบายและมาตรฐานสวัสดิการของรัฐ เช่น บัตรสวัสดิการ ช้อปช่วยชาติ นโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ

ขณะที่ปัจจัยลบที่มีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ  เช่น   ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย  ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับไม่สูงส่งผลต่อรายได้ครัวเรือน ภาระหนี้สินของครัวเรือนและสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันทำให้ผู้บริโภคยังไม่มีการขยายตัว ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการฯ  อยู่ที่ระดับ 52.1 ปรับตัวสูงขึ้นจากในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.7