เพิ่มแรงงานท่าเรือปีละพัน
เศรษฐกิจ
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาบุคลากรและบุคคลทั่วไป ระหว่าง การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งมี ร.ต.ต.มนตรีฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบังและรักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กับนายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นผู้ลงนาม โดยมีนายสมศักดิ์ ห่มม่วง ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วยพนักงาน เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องร่วมงาน
นายไพรินทร์ กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวนอกจากจะเป็นการยกระดับมาตรฐานบุคลากรของท่าเรือ และพัฒนาฝีมือแรงงานบุคคลทั่วไปแล้วยังช่วยพัฒนาบุคคล และยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานในภาพรวมของประเทศด้วย โดยทั้ง 2 หน่วยงาน จะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรพัฒนาทักษะเฉพาะด้านเกี่ยวกับการปฏิบัติงานท่าเรือ เช่น หลักสูตรการฝึกขับเครื่องมือทุ่นแรง หลักสูตรการดับเพลิงขั้นต้น หลักสูตรการฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ หลักสูตรการจัดการสินค้าอันตราย เป็นต้น เพื่อให้มีความรู้ความสามารถและทักษะฝีมือสูงขึ้น ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และตอบสนองนโยบายรัฐบาลด้านการพัฒนาให้บุคคลทั่วไปมีศักยภาพด้านฝีมือแรงงานที่มีมาตรฐานเพียงพอที่จะรองรับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อีกทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคคลทั่วไป และสถานประกอบการ เพื่อรองรับต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคต
ด้านพล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์รัฐบาล เรื่องสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการพัฒนาคุณภาพกำลังคน โดยเฉพาะบุคลากรในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ มีกำลังแรงงานมากกว่า 2.85 ล้านคน ทั้งด้านการขนส่ง การผลิตสินค้า และการบริการของประเทศ ส่งผลให้เกิดความต้องการแรงงานที่มีทักษะฝีมือและใช้เทคโนโลยีสมัครใหม่ ประกอบกับไทยตั้งเป้าเป็นเป็นศูนย์กลาง(ฮับ)โลจิสติกส์ในภูมิภาคอินโดจีน ดังนั้นการพัฒนาแรงงานจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก อย่างไรก็ตามกระทรวงแรงงานจะร่วมกับกทท.พัฒนาทักษะแรงงานในระยะเวลา 5 ปีในพื้นที่ท่าเรือ5แห่ง ได้แก่ ท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือเชียงของ ท่าเรือเชียงแสน และท่าเรือระนอง โดยตั้งเป้าดำเนินการปีละ 1,000 คน ทั้งนี้เชื่อว่าการบูรณาการทำงานร่วมกันครั้งนี้จะก่อให้เกิดแรงงานท่าเรือที่มีศักยภาพจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้ไทยก้าวสู่ประเทศที่มั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืนต่อไป