ข่าวกำชับขนส่งฯ ทั่วประเทศเข้มใบรับรองแพทย์ 'โรคลมชัก' - kachon.com

กำชับขนส่งฯ ทั่วประเทศเข้มใบรับรองแพทย์ 'โรคลมชัก'
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s


นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ขบ. กำหนดให้ขอรับใบอนุญาตขับรถ (ใบขับขี่) ต้องใช้ใบรับรองแพทย์แสดงว่าไม่มีโรคประจำตัวอันอาจเป็นอันตราย ขณะขับรถเป็นหลักฐานประกอบการขอดำเนินการ ทั้งนี้ ขบ. ได้หารือร่วมกับแพทยสภาอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสุขภาพ เพื่อออกใบรับรองแพทย์สำหรับผู้ขอรับใบขับขี่ให้เป็นปัจจุบันรองรับสภาวะโรคต่างๆ รวมถึงปัญหาของผู้ป่วยโรคลมชัก ซึ่งเกิดอุบัติเหตุจากอาการชักในระหว่างขับรถ ล่าสุดคณะกรรมการแพทยสภาได้มีมติเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.60 ให้โรคลมชักในสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ เป็นโรคประจำตัวที่อาจเป็นอันตรายขณะขับรถ เว้นแต่แพทย์ผู้ให้การรักษารับรองว่าผู้ป่วยไม่มีอาการชักเกินกว่า 2 ปี ดังนั้น ขบ. จึงได้ซักซ้อมแนวทางการตรวจสอบให้แก่นายทะเบียนทั่วประเทศ เพื่อให้ตรวจสอบลักษณะต้องห้ามในการขอรับใบอนุญาตขับรถเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกันทุกสำนักงานขนส่ง



นายพีระพล กล่าวต่อว่า โดยให้ตรวจสอบหลักฐานใบรับรองแพทย์ที่ใช้ประกอบคำขอ ดังนี้ต้องเป็นใบรับรองแพทย์ตามแบบมาตรฐานที่แพทยสภารับรอง ในส่วนที่ 1 ของผู้ขอรับใบรับรองสุขภาพลงลายมือชื่อรับรองตนเอง ประวัติโรคประจำตัว ประวัติอุบัติเหตุและการเข้ารับการผ่าตัดที่สำคัญ และส่วนที่ 2 ของแพทย์ผู้ตรวจร่างกายรับรอง และในกรณีผู้ขอรับใบรับรองสุขภาพป่วยเป็นโรคลมชักในสภาวะที่ไม่สามารถควบคุมอาการชักได้ต้องได้รับการรับรองว่าผู้ป่วยโรคลมชักไม่มีอาการชักเกินกว่า 2 ปี รวมถึงการรับรองในกรณีอื่น เช่น ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพจนไม่สามารถขับรถได้ ไม่ปรากฏอาการของโรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน หรือปัญญาอ่อน ไม่ปรากฏอาการของการติดยาเสพติดให้โทษ ไม่ปรากฏอาการของโรคพิษสุราเรื้อรัง และไม่ปรากฏอาการและอาการแสดงของโรคเรื้อนในระยะติดต่อหรือในระยะปรากฏอาการ วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการ จึงจะสามารถดำเนินการขอรับใบขับขี่ได้ตามระเบียบของ ขบ. 

นายพีระพล กล่าวอีกว่า สำหรับใบรับรองแพทย์ตามแบบที่แพทยสภารับรองดังกล่าว สถานพยาบาลส่วนใหญ่ใช้เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ผู้ขอรับใบขับขี่หรือใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถควรแจ้งวัตถุประสงค์ในการขอรับใบรับรองแพทย์ให้ชัดเจน เพื่อให้แพทย์ออกใบรับรองแพทย์ให้ถูกต้องตรงกับวัตถุประสงค์การนำไปใช้ ทั้งนี้สำหรับโรคประจำตัวบางกลุ่มอันอาจเป็นอันตรายขณะขับรถยังอยู่ในระหว่างการหารือร่วมกันระหว่าง ขบ. และแพทยสภาที่อาจกำหนดเพิ่มเติมในอนาคต เช่น โรคเบาหวานระยะที่ต้องฉีดอินซูลิน โรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทางสมอง ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายที่ผ่านการผ่าตัดหัวใจหรือขยายเส้นเลือดหัวใจซึ่งแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นอุปสรรคต่อการขับรถ เป็นต้น ซึ่งต้องมีการพิจารณาหลักเกณฑ์และกำหนดรายละเอียดของใบรับรองแพทย์ให้สามารถคัดกรองผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถ ได้อย่างปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนรวม