เร่งปิดจ๊อบสัญญางานระบบรถไฟไทย-จีน
เศรษฐกิจ
-
สนับสนุนเนื่อหา
-
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา หรือรถไฟไทย-จีน ระยะทา252.35 กม. วงเงิน 179,412.21 ล้านบาทว่า ขณะนี้ได้เร่งรัดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งจัดทำร่างสัญญา 2.3 งานวางราง และระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ มูลค่า 38,558 ล้านบาท เพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนที่จะการประชุมคณะกรรมการร่วม เพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 27 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายตั้งเป้าที่จะลงนามร่วมกันให้ได้ อย่างไรก็ตามการจัดทำร่างสัญญาดังกล่าวยังติดขัดปัญหาสำคัญด้านเทคนิคในสัญญา 2.3 ซึ่งมีรายละเอียดมากร้องมีปรับแก้ไขเนื้องานบางส่วนใหม่ เช่น ต้องโอนงานก่อสร้างรางบางส่วนซึ่งเดิมถูกบรรจุอยู่ในสัญญา 2.1 งานโยธา ให้มาอยู่ในสัญญา 2.3 งานระบบรถ เนื่องจากฝ่ายไทยได้มีการขอให้จีนปรับเปลี่ยนรูปแบบการวางรางจากระบบใช้หินโรยทางมาเป็นการใช้คอนกรีตแทนเหมือนรางของรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นต้น ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ต้องไปเร่งเจรจากับจีนให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด
นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญหาเงื่อนไขระยะเวลาในการรับประกันงานในสัญญา 2.3 ที่ไทยกับจีนยังมีความเห็นแตกต่างกัน โดยฝ่ายไทยเสนอให้จีนรับประกันความเสียหายจากงานในสัญญา 2.3 เป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายของไทยที่กำหนดไว้ แต่ทางจีนยืนยันว่าจะให้รับประกันความเสียหายเพียง 1 ปีเท่านั้น ซึ่งต้องเร่งหาข้อสรุปร่วมกันให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตามสำหรับแหล่งเงินทุนในการดำเนินการตามสัญญา 2.3 นั้น ขณะนี้ฝ่ายจีนได้เสนอตัวเลขอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาให้ฝ่ายไทยพิจารณาแล้วเป็นแนวโน้มที่ดี เพราะมีการปรับดอกเบี้ยลดลงมาต่ำกว่า 3% จากอัตราเดิมแล้ว ซึงอยู่ระหว่างที่กระทรวงการคลังพิจารณาความเหมาะสมว่าจะกู้เงินจากจีนหรือกู้เงินภายในประเทศ โดยเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเร่งด่วนยังพอมีเวลาที่จะพิจารณาให้ชัดเจน
รายงานข่าวจาก รฟท.แจ้งว่า งานปรับรูปแบบการวางรางจากระบบหินโรยทางมาเป็นใช้รูปแบบคอนกรีต มีระยะทางที่ต้องปรับรวมประมาณ 60 กม. ในเส้นทาง 3 ช่วง คือ 1.เส้นทางระหว่าง บางซื่อ-ดอนเมือง 2.บริเวณสถานีบางซื่อ, อยุธยา, สระบุรี และปากช่องและ 3.ทางช่วงที่เป็นอุโมงค์ทั้งหมดตลอดเส้นทาง คาดว่าจะทำให้วงเงินก่อสร้างเพิ่มขึ้นราว 3,000 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนวัสดุคอนกรีตแพงกว่าหินโรยทาง ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.จะต้องโอนงบฯจากสัญญา2.1 งานโยธาไปไว้ในสัญญา 2.3 งานระบบรถ ซึ่งจะทำให้งบฯในสัญญา 2.3 เพิ่มขึ้นเป็นเงินจำนวน 41,558 ล้านบาท