พ่อแม่สวม'หมวกกันน็อค'ให้ลูกแค่7%
เศรษฐกิจ
นพ.วิทยา กล่าวต่อว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนไทยยังคงสูงมาก โดยเฉพาะจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ซึ่งสูงถึง 80% ในจำนวนนี้ 15% หรือประมาณ 2,500 ราย คืออัตราการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เนื่องจากสรีรวิทยาศรีษะของเด็กใหญ่ถึง 20-30% เมื่อเทียบกับสัดส่วนร่างกาย มากกว่าผู้ใหญ่ที่มีสัดส่วนศรีษะต่อร่างกาย 5-10% ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงมีความเสี่ยงสูง ที่จะได้รับบาดเจ็บบริเวณศรีษะ และสมองมากกว่า ทั้งนี้หากทุกคนตระหนักถึงความเสี่ยง และผลกระทบร้ายแรงจากการไม่สวมหมวกกันน็อค พ่อแม่ ผู้ปกครอง และวัยรุ่น หันมาใส่หมวกกันน็อคให้ตนเองและเด็กทุกครั้งเมื่อขับขี่ นอกจากจะช่วยลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตลงแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการปลูกฝังพฤติกรรม และการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในสังคมไทยด้วย
นพ.วิทยา กล่าวอีกว่า ภาครัฐมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ให้ความสำคัญในการสวมหมวกกันน็อคเมื่อขับขี่ โดยในกรณีหมวกกันน็อคเด็กซึ่งมีอยู่ 3 ขนาดตามอายุ คือ ช่อง 1-2 ขวบ 3-5 ขวบ และ 5-11 ขวบ หากมีโครงการให้ผู้ปกครองสามารถนำหมวกเก่ามาแลกใบใหญ่ ตามอายุของบุตรหลายที่เพิ่มขึ้น จะช่วยสร้างแรงจูงใจ และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนลงได้ ขณะที่ในแง่ของการการบังคับใช้กฎหมายอยากให้ ศึกษาโมเดลความสำเร็จของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ซึ่งปัจจุบันสามารถทำให้ผู้ขับมอเตอร์ไซค์สวมหมวกกันน็อคได้ 100% และกำลังต่อยอดบังคับใช้กฎหมายอย่างเข็มงวดในกลุ่มผู้โดยสารเด็ก
นพ.วิทยา กล่าวด้วยว่า ข้อมูลจากรายงานอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ปี 60 โดยมูลนิธิไทยโรดส์ พบว่า ผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ทั้งผู้ขับและซ้อน สวมหมวกเพียง 43% และเมื่อจำแนกตามช่วงอายุ พบว่า ผู้ใหญ่สวมหมวกกันน็อค 46% วัยรุ่น 18% และเด็กสำรวจเฉพาะผู้โดยสาร สวมหมวกกันน็อคในอัตราที่ต่ำมากเพียง 7% ขณะที่ผลการศึกษาลักษณะการนั่งมอเตอร์ไซค์เด็กต่อความรุนแรงของการบาดเจ็บที่เกิดจากการชนของมอเตอร์ไซค์ พบว่า ลักษณะการนั่งของเด็กที่เหมาะสม ควรให้เด็กนั่งโดยสารด้านหลังผู้ขับขี่ สามารถลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้มากกว่า รวมถึงควรสวมหมวกนิรภัย และจัดหาที่นั่งเด็กที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงที่ศีรษะเด็กจากการกระแทกพื้น หรือบางส่วนของโครงสร้างของรถยนต์ อีกทั้งที่นั่งที่เหมาะสมของเด็กควรมีการป้องกัน ไม่ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายลื่นไถลไปกับพื้นหลังจากการชน.