ข่าวคมนาคมเร่งแผนเดินทางไร้รอยต่อ - kachon.com

คมนาคมเร่งแผนเดินทางไร้รอยต่อ
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม (คค.) เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้ากับขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อหารือแผนเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะโดยให้รถไฟฟ้าเป็นระบบหลักเชื่อมเรือและรถเมล์เป็น 2 รูปแบบ คือ เชื่อมทางกายภาพและเชื่อมโดยใช้ระบบที่ส่งเสริมการเดินทาง อาทิ ตั๋วร่วมหรือบัตรแมงมุม โดยมอบการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไปพิจาณาสถานีที่มีรถไฟฟ้าหลากสีตัดกัน ทั้งสถานีเดิมที่มีอยู่ และสถานีในอนาคตนำมาทำเป็นสถานีร่วมเช่น สถานีสวนจตุจักร และสถานีหมอชิต อยู่ในที่เดียวกัน แต่ยังไม่เชื่อมกันฝนตกต้องเดินตากฝนมาโบกรถเมล์
ทั้งนี้ป้ายรถเมล์ต้นทาง-ปลายทางให้ทำเป็นสถานีร่วมมีพื้นที่จุดจอดสำหรับรถเมล์แต่ละสาย ป้ายรถเมล์ต้องตั้งในตำแหน่งเหมาะสมสะดวกต่อการใช้งานและอยู่ใกล้ระบบขนส่งสาธารณะ รวมทั้งสร้างศาลาพักคอยโดยนำแผนมาเสนอที่ประชุมครั้งหน้าเพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.) มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการต่อ เน้นจุดเชื่อมต่อการเดินทางหนาแน่นทำง่ายและใช้งบประมาณไม่มากก่อน เช่น สถานีหมอชิต ให้เห็นภาพการเดินทางแบบไร้รอยต่อรถไฟฟ้ากับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆต่อไป

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่า ปลัดฯมีข้อสั่งการให้รถไฟฟ้ากับระบบสาธารณะอื่นๆเชื่อมต่อการใช้งานได้จริง ปัจจุบันการเดินเรือโดยสารคลองแสนแสบมีทั้งหมด28 ท่า ขณะที่เรือด่วนเจ้าพระยา และเรือข้ามฟาก รวมกัน 100 ท่า ได้มอบหมายกรมเจ้าท่า (จท.)พิจารณาศักยภาพของท่าเรือ และจุดเชื่อมต่อท่าเรือกับรถไฟฟ้าได้ มี 2 แบบ คือ 1.ท่าเรือกับรถไฟฟ้าอยู่ตำแหน่งเดียวกันมี 5 ท่า คือ ท่าเรือสาทร ท่าบางโพ ท่าพระนั่งเกล้า ท่าราชินี และท่าพระราม 7ซึ่งท่าเรือบางโพและพระนั่งเกล้ามอบให้ รฟม. ไปออกแบบ ส่วนท่าเรือพระราม 7 ต้องหารือกรุงเทพมหานคร(กทม.) ก่อน ขณะที่ท่าสาทรและท่าราชินีปัจจุบันเชื่อมต่อแล้ว

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า และ 2.ท่าเรืออื่นๆ ที่ไม่เชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าโดยตรง เช่น ท่าเรือรามคำแหง และหัวลำโพงต้องไปพิจารณาต่อ เมื่อลงเรือแล้วให้นั่งรถเมล์ต่อระยะทางสั้นๆ มาสถานีรถไฟฟ้าได้โดยมอบกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ใช้รถเมล์เป็นฟีดเดอร์รับส่งผู้โดยสารจากท่าเรือไปสถานีรถไฟฟ้าได้รวมทั้งให้ ขบ. นำแผนปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ 269 เส้นทางมาพิจารณาให้สอดคล้องกับแผนแม่บทรถไฟฟ้าและท่าเรือควบคู่ไปด้วย นำร่องใช้กับรถไฟฟ้าสายสีแดง(บางซื่อ-รังสิต)ก่อนเพราะเป็นถนนสายหลักและจะเปิดให้บริการต้นปี 64