ต้องแก้กม.หากให้อบจ.สร้าง'รถไฟฟ้าหาดใหญ่'
เศรษฐกิจ
รายงานข่าวแจ้งว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) เป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาจัดทำรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์เรื่องการร่วมทุนโครงการระบบขนส่งมวลชนโดยระบบรางอ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หรือรถไฟฟ้าโมโนเรล(รถไฟฟ้ารางเดี่ยว)หาดใหญ่ เส้นทางคลองหวะ-สถานีรถตู้ 12.54 กม. วงเงิน16,186 ล้านบาท ตามพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพ.ศ. 2556 ต่อจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) และ อบจ.สงขลา ที่ร่วมกันศึกษาออกแบบรถไฟฟ้าโมโนเรลหาดใหญ่เสร็จเป็นปีๆแล้วโดยศึกษาเสร็จเป็นสายแรกๆของรถไฟฟ้าในเมืองภูมิภาค โดยอบจ.สงขลาได้เสนอตัวก่อสร้างรถไฟฟ้าสายนี้เอง
โดยขณะนี้ผลการศึกษารูปแบบการร่วมลงทุนเสร็จเรียบร้อยพร้อมเสนอกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นชอบแล้ว จากนั้นต้องนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) พิจารณา คาดว่าใช้เวลา 6 เดือน เมื่อ สคร. เห็นชอบโครงการ หากเป็นกรณีการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินหรือต้องมีการก่อหนี้โดยการกู้/ค้ำประกัน ให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการต่อไป และจะเปิดประมูลหาเอกชนมาร่วมลงทุนโดยใช้เวลา 1 ปี หรือก่อสร้างได้ในปี 64 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปีคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 68 โดยมีผู้โดยสารใช้บริการ55,902 คนต่อวัน ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย
ผลการศึกษาเรื่องการบริหารโครงการ ได้เสนอให้อบจ.สงขลาจัดตั้งบริษัทจำกัดเป็นวิสาหกิจมหาชนของอบจ. หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เพื่อรับผิดชอบบริหารโครงการทั้งการสรรหาเอกชนเข้ามารับผิดชอบโครงการ การจัดระบบการกำกับดูแลเอกชนให้ปฏิบัติตามสัญญาเหมือนกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ของกรุงเทพมหานคร(กทม.) เพื่อลดขั้นตอนต่างๆ แต่การที่ อบจ. จะจัดตั้งบริษัทจำกัดมาดูแลโครงการระบบการขนส่งทางรางได้นั้นต้องแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัดพ.ศ.2540 ให้ อบจ.มีอำนาจในการทำกิจการร่วมกับบุคคลอื่นโดยการก่อตั้งบริษัทหรือถือหุ้นในบริษัทได้ ในรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน(พีพีพี)
ขณะนี้มีบริษัททั้งภายในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจลงทุนโครงการ อาทิบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี, บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม, มาเลเซีย,จีน, ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ แต่ต้องรอความชัดเจนของภาครัฐในการสนับสนุนเม็ดเงินลงทุน รวมไปถึงระยะเวลาดำเนินการที่ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ มากและนานกว่าการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เป็นเจ้าของโครงการ สำหรับการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)
สำหรับรถไฟฟ้าโมโนเรลหาดใหญ่ ระยะแรกเส้นทางคลองหวะ-สถานีรถตู้ 12.54 กม. เป็นสถานียกระดับ 12 สถานี ได้แก่สถานีคลองหวะ, สถานีเซ็นทรัล, คลองเรียน,มอ., คอหงส์, บิ๊กซี,หาดใหญ่วิทยาลัย, น้ำพุ, กิมหยง,ชุมทางรถไฟหาดใหญ่, หาดใหญ่ใน และรถตู้ มีแนวเส้นทางเริ่มจากสถานีสี่แยกคลองหวะถนนกาญจนวณิช ผ่านสถานีขนส่ง สถานีคลองเรียน สถานี มอ. สถานีคอหงส์แล้วเข้าถนนเพชรเกษมที่แยกคอหงส์ ผ่านสถานีบิ๊กซีหัวรั้ว สถานีหน้าโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสถานีวงเวียนน้ำพุ สถานีตลาดกิมหยง สถานีชุมทางรถไฟหาดใหญ่ สถานีหาดใหญ่ในและสิ้นสุดโครงการที่สถานีรถตู้ โดยมีพื้นที่จุดเชื่อมต่อ 3 แห่งที่สถานีคลองหวะ คอหงส์ และสถานีรถตู้มีพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงและควบคุมการเดินรถที่ สถานีคลองหวะ 1 แห่ง