คาดกนง.ตรึงดอกเบี้ย6ก.พ.นี้ รอประเมินทิศทางศก.
เศรษฐกิจ
ดังนั้นต้องยอมรับว่าปัจจัยความไม่แน่นอน ที่เข้ามากระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยนั้นมาจากปัจจัยภายนอก อันเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ยากทั้งการส่งออกที่ชะลอตัวซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศส่งออกหลักของโลก รวมทั้ง ปัจจัยชั่วคราวจากการปรับลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวจีน อย่างไรก็ดี หากพิจารณาปัจจัยในประเทศยังพบว่า การใช้จ่ายครัวเรือนยังโตได้ในระดับสูง ส่วนหนึ่งมาพร้อมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนที่ยังโตต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ กนง. คงให้น้ำหนักการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยหากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเติบโตใกล้เคียงระดับ 4% ตามที่ได้ประเมินไว้ กนง. อาจจะพิจารณา โอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง ซึ่งน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 62 แต่หากความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในระดับสูง อาจส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงินตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.75% ตลอดทั้งปีนี้
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในปีนี้เผชิญกับปัจจัยไม่แน่นอนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงภายนอกจากความไม่แน่นอนด้านการค้า และค่าเงินบาทที่กลับมาแข็งค่าอีกครั้ง ซึ่งมองว่าข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจจะไม่ได้ข้อยุติที่เป็นรูปธรรม ก่อนวันที่ 2 มี.ค. 62 เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายมีมุมมองที่แตกต่างกันค่อนข้างมากในการคลายความขัดแย้ง ทำให้สินค้าส่งออกจากจีนไปยังสหรัฐฯ ยังคงมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าเป็น 25% หรือในกรณีที่การเจรจาการค้ามีความก้าวหน้าสหรัฐฯ พอประมาณ สหรัฐฯ อาจจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจาก จีนที่ระดับ 10% จนกว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้า ทำให้มองว่าแรงกดดันต่อการส่งออกไทยน่าจะคงมีอยู่
นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าจากปัจจัยพื้นฐานเสถียรภาพต่างประเทศของไทยที่แข็งแกร่ง รวมทั้ง การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมที่เข้ามากระทบภาคต่างประเทศโดยเฉพาะการส่งออก