แบรนด์ระดับโลกสนร่วมธุรกิจเสื้อผ้าใยสับปะรดไทย
เศรษฐกิจ
นอกจากนี้ยังมีโครงการดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นแบรนด์ชั้นนำของเมืองไทยที่ส่งเสริมและอนุรักษ์สินค้าพื้นถิ่นเพื่อสืบสานความเป็นไทยได้สั่งซื้อผ้าใยสับปะรดไปผลิตเป็นสินค้าพรีเมียมอีกหลายประเภท หลังจากที่ทางกรม และหน่วยงานอื่นๆ ร่วมมือกันส่งเสริมให้ผู้ประกอบการชุมชนผลิตผ้าใยสับปะรดดังกล่าว เนื่องจากผลผลิตจากเส้นใยสับปะรด ถือเป็นสินค้าที่ช่วยลดมลพิษของเสียจากวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตร และเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและให้การสนับสนุนอย่างมาก
“ตอนนี้กลุ่มผู้ผลิตเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มจากใยสับปะรดหลายกลุ่มแจ้งมาว่า ได้รับออเดอร์จากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมากจนไม่สามารถจะผลิตได้ทัน ซึ่งล่าสุดทาง กรมฯ ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือโดยได้หารือกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้ผู้ผลิตสินค้านำออเดอร์จากต่างประเทศของผู้ประกอบการที่ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันให้ผู้ต้องขังช่วยผลิต เนื่องจากผู้ต้องขังจำนวนมากเป็นแรงงานที่ได้รับการฝึกอบรมวิชาชีพสาขาต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐจำนวนหลายแสนคน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือ ล่าสุดได้รับรายงานว่าทางพาณิชย์จังหวัดสงขลาได้นำร่องนำออเดอร์ให้ผู้ต้องขังในเรือนจำจังหวัดสงขลาผลิตเส้นใยสับปะรดแล้ว ถือเป็นความร่วมมือแบบบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ทุกภาคส่วนของสังคมอย่างแท้จริง และจะใช้กรณีดังกล่าวเป็นโมเดลในการร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์เพื่อผลิตสินค้าอื่นๆ เพื่อส่งออกต่อไป”
ด้านนายวินิจ สินธุรักษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทปราณพรหม จำกัด และประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสับปะรดบ้านหนองหอย กล่าวว่า ปัจจุบันทางบริษัทได้มีการรับซื้อใบสับปะรดที่มีคุณภาพยาวเกิน 1 เมตร อายุ 2-3 ปีขึ้นไปในราคากก.ละ 2 บาท แต่หากเป็นเส้นใยสับปะรดราคาจะสูงถึงกก. ละ 300-600 บาท ส่วนการแปรรูปมีหลายแบบถ้าเป็นผ้าไหมใยสับปะรดราคา 3,000 บาทต่อหลา ผ้าฝ้ายใยสับปะรดราคาเริ่มต้นที่ 1,500 บาทต่อหลา โดยในปัจจุบันการดำเนินการผลิตด้ายด้วยเส้นใยสับปะรดยังไม่มีเครื่องจักรที่สมบูรณ์แบบจึงได้ติดต่อกับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ประสานความร่วมมือด้านเครื่องจักรที่สามารถผลิตเส้นใยสับปะรดโดยเฉพาะเพราะในปัจจุบันยังไม่มีเครื่องจักรสำหรับเส้นใยสับปะรดโดยตรง โดยคาดว่าจะสามารถสร้างเครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตสูงถึง 10 ตัน(ใบ)ต่อวัน หรือประมาณ 200 กก.ใยต่อวัน จากปกติที่ผู้ผลิตสินค้าชุมชนใช้แรงงานฝีมือคนและเครื่องจักรขนาดเล็กจะได้เส้นใยประมาณ 60 กก.ใยต่อวัน เท่านั้น จนเกิดปัญหาไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันต่อความต้องการตลาด