ข่าวบลจ.ทาลิสลุยตราสารหนี้ ตั้งเป้าเอยูเอ็มหมื่นล้าน - kachon.com

บลจ.ทาลิสลุยตราสารหนี้ ตั้งเป้าเอยูเอ็มหมื่นล้าน
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
นายฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บลจ. ทาลิส  เปิดเผยว่า  แผนงานในปีนี้เน้นออกกองทุนตราสารหนี้ในประเทศเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าเพิ่มขึ้น ผ่านตัวแทนขาย  นักวางแผนการลงทุนอิสระ (Independent Investment Planner : IIP) รวมถึงช่องทางการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ คืออินเทอร์เน็ตเทรดดิ้ง   เนื่องจากเราเป็นบูติก แอสเซท แมเนจเม้นท์ ที่เชี่ยวชาญการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ในประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะมีลูกค้าใหม่ เข้ามาใช้บริการกองทุนส่วนบุคคลและกองทุนรวมมากขึ้น หรือมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารหรือเอยูเอ็มสิ้นปีนี้แตะระดับ 10,000 ล้านบาท จากปี61   อยู่ที่  5,664 ล้านบาท  
 
สำหรับภาพรวมระยะยาวของตลาดหุ้นไทยถูกขับเคลื่อนด้วยการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนเป็นหลัก โดยมองว่าจากนี้ไปอีก 10 ปี บริษัทจดทะเบียนของไทยจะสามารถทำกำไรเป็นสถิติใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่เชื่อว่าเริ่มเข้าสู่โหมดของการฟื้นตัวต่อเนื่อง  ส่วนมุมมองระยะสั้นคาดว่าปีนี้ดัชนีตลาดหุ้นมีโอกาสฟื้นตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยมองเป้าหมายดัชนีสิ้นปีไว้ที่ระดับ 1,742 จุด ภายใต้คาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนที่ 112.4 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็น EPS Growth ที่ระดับ 6%  ซึ่งปัจจัยบวกสำคัญ ให้น้ำหนักกับการเลือกตั้งในประเทศ

ส่วนผลการเลือกตั้งต้องได้รัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรจึงจะเป็นบวกต่อตลาดทุน  รวมถึง การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน หากมีข้อสรุปว่าไม่มีการดำเนินมาตรการเพิ่มเติมก็ถือว่าเป็นบวกต่อตลาด และค่าเงินบาทแข็งค่า จากดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นบวก จะส่งผลให้มีเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทย ในขณะที่ Valuation  ของตลาดหุ้นปัจจุบันยังไม่แพง อย่างไรก็ตาม กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีคาดว่าจะอยู่ที่ 1,551-1,861 จุด
 
ด้านความเสี่ยงสำคัญที่นักลงทุนจะต้องติดตาม คือ   สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนขยายตัวรุนแรงขึ้น   การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีน อัตราการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนในระดับต่ำ ราคาน้ำมัน หากอยู่ในระดับต่ำ จะส่งผลลบต่อกลุ่มพลังงาน แม้จะดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทย    ผลการเลือกตั้ง หากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาล หรือไม่ได้รัฐบาลเสียงข้างมาก  และ การไม่ต่ออายุการลดหย่อนภาษี ของกองทุนแอลทีเอฟหลังปี 62 เป็นต้น