ข่าวญี่ปุ่นชมไทยแก้'จุดเสี่ยง'จนอุบัติเหตุลด - kachon.com

ญี่ปุ่นชมไทยแก้'จุดเสี่ยง'จนอุบัติเหตุลด
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

 นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการรองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานร่วมไทย-ญี่ปุ่น (Road Safety) ซึ่งมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธานว่า ทางคณะทำงานของกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง และการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (MLIT) ได้มาติดตามผลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน ของ 7 หน่วยงาน ได้แก่ กรมทางหลวง (ทล.), กรมทางหลวงชนบท (ทช.), กรมการขนส่งทางบก(ขบ.), การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.), สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.), การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ตามกรอบบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม และ MLIT

 นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า ทาง MLIT ได้ชื่นชมว่าทุกหน่วยงานมีการนำความรู้ที่ได้เรียนรู้จาก MLIT นำมาปฏิบัติใช้ได้อย่างครบถ้วน โดยนำร่องในถนนจุดเสี่ยงต่างๆ เช่น เส้นขวางลดความเร็ว (Optical Speed Bar), การติดป้ายบอกความเร็วรถผู้ขับขี่ (Your Speed) คร่อมถนน เตือนให้ผู้ขับขี่ลดความเร็วลง, การติดป้ายจราจรแขวนสูงแบบคร่อมผิวจราจร (OVERHANG), การติดตั้งวัสดุกันลื่นบนพื้นถนน (Anti Skid) โดยเฉพาะทางโค้ง ทางอันตราย เป็นต้น นอกจากนี้ยังรู้สึกพึงพอใจกับผลการดำเนินงานของ 7 หน่วยงาน เพราะช่วยลดอุบัติเหตุลงได้มาก เช่น บริเวณเขาพลึง จ.อุตรดิตถ์ พบว่า เมื่อปี 58 มีอุบัติเหตุ 27 ครั้งต่อปี เมื่อมีติดตั้งป้ายยัวร์สปีด เส้นขวางลดความเร็ว และวัสดุกันลื่น เพิ่มเครื่องหมายจราจร เมื่อปี 59 อุบัติเหตุลดลงเหลือ 13 ครั้งต่อปี และปี 60 เหลือ 9 ครั้งต่อปี ลดลง 66.7%

  นายจิรุตม์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันบริเวณทางหลวงหมายเลข 3312 กม.ที่ 17+950 บริเวณหน้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ จ.ปทุมธานี เมื่อปี 58 มีอุบัติเหตุ 5 ครั้งต่อปี เมื่อมีการติดตั้งป้ายยัวร์สปีด เมื่อปี 59 อุบัติเหตุลดลงเหลือ 2 ครั้งต่อปี และปี 60 เหลือ 1 ครั้งต่อปี ลดลง 80% อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ทุกหน่วยงานจะมีการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งทาง MLIT จะมาช่วยในการจัดลำดับความสำคัญว่าจะดำเนินการแก้ไขในพื้นที่ใดก่อนหลัง พร้อมกันนี้จะเร่งให้ความรู้แก่เด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุให้ตระหนักถึงความปลอดภัยบนท้องถนนให้มากขึ้นตามคำแนะนำของ MLIT ด้วย

นายจิรุตม์ กล่าวด้วยว่า แม้ว่าในเดือน ส.ค.62 กระทรวงคมนาคมจะสิ้นสุดความร่วมมือดังกล่าวกับ MLIT แต่ไทย-ญี่ปุ่นยังจะดำเนินการด้านความปลอดภัยทางถนนร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดย MLIT จะส่งมอบงานให้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) สานต่อการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการในด้านความปลอดภัยทางถนน คาดว่าจะสามารถลงนามความร่วมมือกันได้ในเดือน พ.ย.62 ซึ่งจะเน้นการให้ความรู้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ อาทิ การถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ในการแก้ปัญหาความปลอดภัยทางถนนด้วยเทคโนโลยี การร่วมวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุ กายภาพทางถนน การควบคุมการเกิดอุบัติเหตุจากการก่อสร้างต่างๆ เป็นต้น เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนการดำเนินงาน และมาตรการความปลอดภัยทางถนนของกระทรวงคมนาคมที่จะให้หน่วยงานต่างๆ นำไปปฏิบัติต่อไป.