ข่าวเลือกตั้งดึงความเชื่อมั่นลงทุน-ใช้จ่ายเพิ่ม - kachon.com

เลือกตั้งดึงความเชื่อมั่นลงทุน-ใช้จ่ายเพิ่ม
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบ การสตาร์ทอัพ(SSI) ประจำไตรมาส 4 ปี 61 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพทั่วประเทศจำนวน 430 ตัวอย่าง พบว่า  ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ระดับ 61.75  สูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการสตาร์ทอัพมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางธุรกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะปัจจัยด้านการลงทุน คำสั่งซื้อ ผลประกอบการ ปริมาณการผลิตและการจ้างงาน ที่ยังอยู่ในระดับดี

ทั้งนี้เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High season) ที่มีทั้งเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง มีวันหยุดต่อเนื่องและยังเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีอากาศเย็นสบายและหนาวเย็นในบางพื้นที่ ทำให้ตลาดมีความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นของฝากและของขวัญเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้กลุ่มผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่อยู่ใน ห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจเชื่อมโยงมีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังไม่คึกคักเท่าที่ควร เนื่องมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ส่งผลต่อผู้ประกอบการของไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานส่งออกวัตถุดิบไปจีน ดังนั้นเมื่อผู้ประกอบการในจีนชะลอการผลิตสินค้าที่จะส่งออกไปสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้ประกอบการของไทยชะลอการลงทุนและการจ้างแรงงานลง

สำหรับ ดัชนี SSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการสตาร์ทส่วนใหญ่ประเมินว่าภาวะธุรกิจ ในภาพรวมมีโอกาสดีขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.ส่งผลให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นทั้งการลงทุนและการใช้จ่ายของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 67.52 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเกือบ ทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะด้านผลประกอบการ ปริมาณการผลิตและคำสั่งซื้อ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ รวมทั้งมาตรการตอบโต้ของจีนและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น



นอกจากนั้นผู้ประกอบการเห็นว่าผู้บริโภคได้เร่งการใช้จ่ายในเทศกาลปีใหม่ไปแล้ว ทำให้อาจชะลอการจับจ่ายใช้สอยลง ในระยะเวลาที่เหลือ แต่ ผู้ประกอบการโดยรวมยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่คาดการณ์ว่าสถานการณ์ด้านต้นทุนมีแนวโน้มลดลงจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง อย่างไรก็ตาม  หากพิจารณาในแต่ละ ภาคธุรกิจ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร การค้าและบริการ พบว่า ผู้ประกอบการสตาร์อัพยังมี ความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ ทางธุรกิจโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี (สูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50) โดยดัชนี SSI ในภาคบริการอยู่ที่ระดับ 64.11 สูงที่สุดในทุกภาคธุรกิจ ขณะที่ดัชนีธุรกิจอื่นๆ อยู่ที่ระดับ 57.55-61.15 จากการที่ผู้ประกอบการเพิ่ม ช่องทางการจำหน่ายและขยายตลาดโดยเป็นคู่ค้ากับห้างสรรพสินค้าที่มีสาขาจำนวนมาก เช่น แมคโคร อีกทั้งภาครัฐยังช่วยสนับสนุนผลผลิตจากท้องถิ่นและการใช้สินค้าชุมชน 

ขณะที่ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพมีข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ โดยผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ ที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวยังเผชิญกับการลดลงของนักท่องเที่ยวจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อยอดขายและคำสั่งซื้อ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่เป็น Tech Startup ยังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีฝีมือและมีค่าจ้างที่สูง

ศูนย์วิจัยฯ มองว่ายังมีประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังติดตามคือปัจจัยทางด้านต้นทุนของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ยังอยู่ในระดับสูง ทั้งค่าจ้างแรงงานผู้มีทักษะเฉพาะทาง ค่าวัสดุอุปกรณ์และค่าวัตถุดิบ อีกทั้งยังมีอุปสรรค ที่รอการแก้ไขในด้านกำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้สั่งซื้อ นอกจากนี้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพยังคงต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนในด้านเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำโดยมีเงื่อนไขการกู้ยืมที่ยืดหยุ่นและมีการ ผ่อนปรนการชำระหนี้เมื่อประสบปัญหา รวมถึงการร่วมลงทุนเพื่อขยายธุรกิจและลงทุนเพิ่มเติมในด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตลอดจนเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น