อึ้งไทยสุสานรถเก่าผนึกญี่ปุ่นตั้งศูนย์รีไซเคิล
เศรษฐกิจ
“ปัจจุบันไทยมีรถยนต์เก่าอยู่ประมาณ 5 ล้านคัน คาดว่า ระยะ 20 ปีข้างหน้าจะมีรถยนต์เก่าเพิ่มเป็น 16 ล้านคัน ดังนั้นการรีไซเคิลจึงมีความจำเป็น มีเพียงส่วนน้อยที่มีการกำจัดและพบว่าการถอดชิ้นส่วนเองเสี่ยงอันตราย เช่น ถุงลมนิรภัย (แอร์แบ็ก) หากถอดไม่ถูกวิธีเสี่ยงเป็นระเบิดได้ ซึ่งที่ผ่านมามีเหตุการณ์เกิดระเบิดบ้างแล้ว และยังมีสารทำความเย็น หรือสารฟรีออนจากระบบแอร์รถยนต์ ต้องมีการทำลายที่ถูกวิธี ไม่เช่นนั้นจะส่งผลต่อชั้นอากาศ ซึ่งตอนนี้รถยนต์เก่าหลายๆ คัน ที่ไม่ใช้แล้ว จะจอดทิ้งกองรวมๆ กันไว้เป็นสุสาน บางคันก็นำมาปลูกตะไคร้ ซึ่งหากมีการรีไซเคิลที่ถูกวิธี จะช่วยลดขยะในส่วนนี้ได้มาก หากมีการตั้งศูนย์ไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียน และยังช่วยสร่างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศด้วย เพราะไทยเป็นประเทศฐานการผลิตรถยนต์รายใหญ่ และยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย”
น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เนโดะ) ได้ร่วมลงนามความร่วมมือดำเนินโครงการสาธิตการรีไซเคิลซากรถยนต์(อีแอลวี) เพื่อสาธิตเทคโนโลยีกระบวนการรีไซเคิลซากรถยนต์ที่หมดอายุใช้งานในไทย ด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีโดยโตโยต้า ทูโช คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทลูกค่ายรถยนต์โตโยต้า ติดตั้งในโรงงานสาธิต บริษัท กรีน เมทัลส์ (ประเทศไทย) ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง 3 จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นผู้ประกอบการกิจการคัดแยกขยะและรีไซเคิล ซึ่งความร่วมมือนี้วางเป้าหมายสร้างโมเดลต้นแบบการรีไซเคิลซากรถยนต์ในไทยและภูมิภาคเอเชียในอนาคต ดำเนินระยะเวลา 3 ปี (62-64) คาดว่า รีไซเคิลได้ประมาณ 50 คันต่อวัน หรือประมาณ 45,000 คันในช่วง 3 ปี
“ความร่วมมือนี้เกิดจากจากการที่รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (เซอร์คูล่า อีโคโนมี) เพื่อบริหารจัดการด้านทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไทยถือเป็นผู้นำการผลิตด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียน มีกำลังผลิตรถยนต์ประมาณ 2,000,000 คันต่อปี ขายในประเทศประมาณ 1,000,000 คันต่อปี แต่ยังไม่มีระบบการจัดการซากรถยนต์อย่างเป็นระบบแบบประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันรถยนต์ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีในไทยบางส่วนถูกรื้อถอนซากชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ด้วยแรงงานคน ซึ่งการรื้อถอนซากรถยนต์เหล่านี้ได้ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ การปนเปื้อนในดินจากน้ำมันและสารเคมีเหลว ปัญหาคุณภาพน้ำ หรือการปล่อยสารฟรีออนจากระบบแอร์รถยนต์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และเสี่ยงเกิดอันตรายกับผู้ถอดชิ้นส่วน ขณะที่รถยนต์เก่าส่วนใหญ่ไม่มีการกำจัดใช้วิธีจอดทิ้งไว้