ป่วนงานสัมมนาไอซีดี 'ฉะเชิงเทรา'
เศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่โรงแรมซันธารา เวลเนส รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมเปิดงานสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานฉบับสมบูรณ์กับผู้ที่เกี่ยวข้องโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์รองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือไอซีดีฉะเชิงเทรา โดยมีนายประสงค์ คงเคารพธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานเปิดงาน
นางวิไลรัตน์ เปิดเผยว่า ผลการศึกษาพบว่า ไอซีดีฉะเชิงเทรา มีทั้งหมด 760 ไร่ ตั้งอยู่ ต.หนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ห่างสถานรถไฟดอนสีนนท์ 1 กม. สามารถเชื่อมต่อโครงข่ายกับทางหลวงหมายเลข 315 และทางหลวงชนบทหมายเลข 3122 ได้ โครงการดังกล่าวใช้วงเงินลงทุนรวม 14,506 ล้านบาท แบ่งดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก จะสร้างพื้นที่ส่วนกลาง อาทิ อาคารสำนักงานกลาง โรงอาหาร อาคารพักสินค้าตกค้าง อาคารตรวจสอบเอ็กซ์เรย์ จุดพัก ปั๊มน้ำมันและปั๊มแก๊ส ลานจอดพักรถเทรลเลอร์ และร้านค้าต่างๆ รวมทั้งพื้นที่สถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ อาทิ ลานกองตู้คอนเทนเนอร์ โรงซ่อม ลานทำความสะอาดตู้ โรงอาหาร อาคารปฏิบัติการ อาคารสำนักงาน จุดคัดแยกและบรรจุสินค้ารวมทั้งโรงพักสินค้า
นางวิไลรัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะมีโครงข่ายถนนเชื่อมต่อเข้า-ออกโครงการ และถนนบริการ อาทิ ทางแยกต่างระดับขนาด 2 ช่องจราจรเชื่อมโครงการกับทางหลวง 315, ถนนขนาด 6 ช่อง บริเวณภายในและเข้าออกโครงการ, ถนนบริการ 2 ช่องสำหรับอำนวยความสะดวกกับประชาชนในพื้นที่รอบๆ โครงการ และทางรถไฟเชื่อมต่อเข้าพื้นที่โครงการและพื้นที่สถานีรถไฟ อาทิ อาคารสถานีรถไฟดอนสีนนท์และหอสูงตรวจการณ์ พร้อมอาคารสำนักงาน โดยโครงการก่อสร้างทางเชื่อมรางรถไฟเข้ามาในพื้นที่ไอซีดี เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการขนถ่ายสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ทั้งขาขึ้นและขาล่อง ส่วนระยะที่ 2 จะเพิ่มพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า และเครนยกสินค้า หลังจากนี้จะสรุปผลการศึกษาสมบูรณ์ให้แล้วจะเสนอเข้ากระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือคณะกรรมการอีอีซีต่อไป
ด้าน ดร.ชุมโชค นันทวิชิต รองผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า สำหรับค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 469 ล้านบาท ตอนนี้พื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ประชาชนเช่าทำบ่อเลี้ยงปลาส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยเห็ยด้วยกับโครงการ ขณะที่เจ้าของที่ดินที่มีทั้งในพื้นที่ฉะเชิงเทราและนอกพื้นที่ไม่ได้มีปัญหา ทั้งนี้ในผลการศึกษาได้มีมาตรการลดผลกระทบและอยู่ร่วมกับชุมได้ อาทิ ออกแบบเน้นลดปัญหากระทบกับสิ่งแวดล้อม จัดการสิ่งแวดล้อมไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน มาตรการชดเชย เยียวยาให้เจ้าของที่ดิน และผู้เช่าทำการเกษตรกร สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนโดยรอบเช่นพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพไม่มีรายได้ ส่งเสริมการจ้างงานประชาชนในพื้นที่ จัดทำและดำเนินโครงการแผนงานความรับผิดชอบต่อสังคมโดยอาศัยแนวคิดอุตสาหกรรมสีเขียวของกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อให้โครงการสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืนรวมทั้งตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตามคาดว่าจะดำเนินการได้ ในปี 63-64 ขออนุมัติโครงการจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากนั้นคัดเลือกเอกชน และจัดกรรมสิทธิที่ดิน เริ่มก่อสร้างปี 65 และเปิดให้บริการปี 67 ส่วนระยะที่ 2 คาดว่าเปิดใช้ปี 77
ผู้สื่อข่าวรายว่า ระหว่างที่งานสัมมนากำลังเริ่มนั้นได้มีกลุ่มชาวบ้านชุมชน ต.หนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์ ประมาณ 50 กว่าคน มาเรียกร้องคัดค้านโครงการดังกล่าว เพราะโดนผลกระทบจากโครงการดังกล่าว เนื่องจากชาวบ้านกลุ่มนี้ได้เช่าพื้นที่ที่ตั้งไอซีดีบ่อเลี้ยงปลาและเลี้ยงกุ้ง หากมีไอซีดีทำให้ไม่มีที่อยู่อาศัยและหมดที่ทำมาหากิน จนกระทั่งมาถึงเวลาเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น กลุ่มผู้คัดค้านมาป่วน ทำให้นางวิไลรัตน์ต้องกล่าวปิดงานสัมมนากะทันหัน ทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาบางคนถึงกับเซ็งเพราะตั้งใจมาฟังและแสดงความคิดเห็นเต็มที่ แต่ต้องกลับบ้านก่อนกำหนดงานสัมมนาจะเลิก ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าไปไกล่เกลี่ยกับกลุ่มผู้คัดค้านจนสลายตัวไป