ข่าวส่งออกสินค้าไทยหด! รั้งอันดับ3ในอาเซียน - kachon.com

ส่งออกสินค้าไทยหด! รั้งอันดับ3ในอาเซียน
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  เปิดเผยผลวิเคราะห์ทิศทางการส่งออกของไทยปีนี้ว่า  ส่งออกไทยยังคงเผชิญปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก โดยเฉพาะปัญหาสงครามทางการค้าที่ยืดเยื้อจนส่งผลกระทบต่อทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งธนาคารโลกคาดการณ์จะขยายตัว 2.5% จากปี 61 ขยายตัว  2.9%   รวมถึงยุโรปที่จะชะลอตัวลงตาม  

นอกจากนี้ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ามากกว่าภูมิภาค ราคาน้ำมัน และสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง  ขณะที่สหรัฐ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือจีเอสพีของไทย 11 รายการ และแม้ว่าสหรัฐยืดระยะเวลาขึ้นภาษีจากจีน 25%  ออกไปอีก 90 วัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อบรรยากาศการค้าโลกให้ผ่อนคลายลง และไทยยังคงมีปัจจัยบวกสำคัญจากการที่สหภาพยุโรป (อียู) ปลดใบเหลืองประมงไทย 

สำหรับปีนี้ส่งออกไทยมีมูลค่า  263,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.4%  ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี นับจากปี 60 และหากเทียบในอาเซียนการส่งออกไทยมีอัตราการขยายตัวลดลงเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน โดยเวียดนามส่งออกลดลงมากที่สุด รองลงมาเป็นสิงคโปร์  และหากดูเป็นรายตลาด การส่งออกของไทยในตลาดสำคัญทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น อียู จีน และอาเซียน ถือว่ามีสัดส่วนการส่งออกถึง 70%  ของการส่งออกทั้งหมด คาดว่าจะลดลงทุกตลาด 

ส่วนตลาดอื่น ๆ  เช่น อินเดีย แคนาดา ตะวันออกกลาง แอฟริกา และรัสเซีย นับเป็นตลาดใหม่ที่ไทยควรหันมาทำยุทธศาสตร์เชิงรุก เพราะยังมีสัดส่วนการส่งออกของแต่ละตลาดต่ำกว่าศักยภาพที่ไทยจะส่งออกไปได้ นอกจากนี้ต้องติดตามความไม่แน่นอนของสถานการณ์การถอนตัวออกจากสมาชิกอียูหรือเบร็กซิท และข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ อียู-เวียดนามที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้  ส่งผลให้ไทยส่งออกไปอียูลดลง รวมทั้งค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าขึ้น แม้เดือนก.พ.เงินบาทจะอ่อนค่าลงมา แต่ยังถือว่าแข็งค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอินโดนีเซีย หลังจากเดือนม.ค.ที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้น 33.4%  แข็งค่าที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก 

ด้านประเด็นที่ติดตามการเจรจาระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากสหรัฐเลื่อนการขึ้นภาษีจาก  10% เป็น 25%  ที่จะสิ้นสุด 1 มี.ค.นี้  หากผลการเจรจาสำเร็จทั้ง 2 ประเทศ ไม่มีการขึ้นภาษีระหว่างกันอีก การส่งออกของไทยจะกระทบเพียงเล็กน้อย 0.5% หรือประมาณ 1,181 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่หากผลการเจรจาล้มเหลวมีการขึ้นภาษีตามแผนเดิมการส่งออกของไทยจะกระทบ 1%  หรือ ประมาณ 2,367 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกรณีเลวร้ายสุด คือ การเจรจาล้มเหลว มีการทำตามแผนเดิมและขึ้นภาษีเพิ่มเติมอีก การส่งออกไทยจะหดตัวลง 1.9%  หรือประมาณ 4,427 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น