ผู้ว่าธปท.ชี้ปัจจัยภายนอกกดเงินบาทแข็งค่า
เศรษฐกิจ
" หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วมากจากการเก็งกำไร หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งพักเงินของนักลงทุน โดยตั้งแต่ต้นปี 62 จนถึงปัจจุบันนักลงทุนขายสุทธิในตลาดพันธบัตรมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะเป็นพันธบัตรระยะสั้น ขณะที่มีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นซื้อสุทธิ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมปริมาณเงินทุนไหลออกสุทธิ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.75% ต่ำกว่าสหรัฐอยู่ที่ 2.50% และยังต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย 6% ฟิลิปปินส์ 6% เวียดนาม 6.25% มาเลเซีย 3.25% อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถกำหนดค่าเงินบาทให้คงที่ได้ เพราะปัจจัยต่างประเทศมีผลกระทบต่อค่าเงินบาทมากและมีแนวโน้มผันผวนจากสถานการณ์การเมืองในสหรัฐ เศรษฐกิจโลก และการเมืองระหว่างประเทศ
ทั้งนี้เห็นว่าในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ไทยควรเร่งเรื่องของการลงทุน นำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น เพื่อลดภาวะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและลดต้นทุนการนำเข้าสินค้าทุนได้ พร้อมปรับคุณภาพสินค้าให้แข่งขันกับคู่แข่งได้ ขณะเดียวกันผู้ส่งออกควรใช้สกุลท้องถิ่นในการค้าขายต่างประเทศ เนื่องจากมีความผันผวนน้อยกว่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และปัจจุบันผู้ส่งออกใช้สกุลเงินดอลลาร์ในการค้าขายต่างประเทศ 70-75 % ตลอดจนทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อรองรับความผันผวนในอนาคต
" หลังจากการเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐ มุมมองของนักลงทุนเกี่ยวกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเปลี่ยนไป จากหลายปัจจัยทั้งจากเหตุการณ์ชัตดาวน์ ที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ การที่นักลงทุนเทขายหุ้นจากมุมมองความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป และการที่ธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าเดิม ในขณะที่ปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนยังไม่คืบหน้า ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง และผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯปรับลดลง"