ข่าวคปป.มีมติไม่ต่อมาตรการปกป้องเหล็กแผ่นรีดร้อน - kachon.com

คปป.มีมติไม่ต่อมาตรการปกป้องเหล็กแผ่นรีดร้อน
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง  (คปป.) มีมติในการพิจารณาผลการทบทวนชั้นที่สุด ไม่ขยายเวลาการใช้มาตรการปกป้อง (เอสจี)) สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่นๆ ต่อไปเป็นครั้งที่ 3 หลังพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกี่ยวข้องและข้อกฎหมายตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ. มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 ไม่พบความเสียหายอย่างร้ายแรงที่เกิดแก่อุตสาหกรรมภายในหรือที่คุกคามอุตสาหกรรมภายในอันเนื่องมาจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น 
 
“ คปป. ได้พิจารณาข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้รับจากกระบวนการไต่สวนและผลจากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย  ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 91 ราย ประกอบด้วย ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ ผู้ผลิตต่างประเทศ ผู้ผลิตในประเทศ สมาคมผู้ใช้ อุตสาหกรรมต่อเนื่อง และผู้นำเข้า ซึ่งเห็นว่าไม่พบความเสียหายอย่างร้ายแรงที่เกิดแก่อุตสาหกรรมภายในหรือที่คุกคามอุตสาหกรรมภายในอันเนื่องมาจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น  จึงจำเป็นไม่ขยายเวลาการใช้มาตรการปกป้อง”
 
 ส่วนกรณีที่ไทยถูกตอบโต้จากตุรกีโดยขึ้นภาษีนำเข้าเครื่องปรับอากาศ สาเหตุก็เพราะไทยได้ไปขยายเวลาการใช้มาตรการเอสจี  สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนไม่เจือ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก หรือดับเบิ้ลยูทีโอ  เพื่อลดผลกระทบและกดดันให้ตุรกียุติการตอบโต้กับไทยต่อไป
 
สำหรับข้อร้องเรียนของกลุ่มผู้ผลิตเหล็ก 7 สมาคมที่มีหนังสือถึงท่านนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 62 เรียกร้องให้คณะกรรมการฯ ขยายเวลาการใช้มาตรการปกป้อง  สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่นๆ ต่อไปเป็นครั้งที่ 3 หลังจากที่ไทยใช้มาตรการมาแล้ว 6 ปี คือ ครั้งแรกวันที่ 27 ก.พ. 56 – 26 ก.พ. 59 และขยายเวลาครั้งที่ 2 ออกไปจนถึงวันที่ 26 ก.พ. 62 โดยกลุ่ม 7 สมาคมอ้างถึงสถานการณ์สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และว่าถ้าไม่มีการต่ออายุมาตรการเอสจี ออกไปอีกจะทำให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยไปไม่รอดนั้น ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่ามาตรการเอสจีเป็นมาตรการเยียวยาความเสียหายจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น  มิใช่มาตรการที่จะแก้ปัญหาเรื้อรังของอุตสาหกรรมเหล็กรีดร้อนไทยที่เป็นผลจากเหตุอื่น เช่น ปัญหาโครงสร้างการผลิต การบริหารจัดการ และการมีกำลังการผลิตที่เกินความต้องการใช้ในประเทศมากได้