ข่าวไทยเดินหน้าทำระบบรับรองถิ่นกำเนิดอาเซียน - kachon.com

ไทยเดินหน้าทำระบบรับรองถิ่นกำเนิดอาเซียน
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
นางอรมน  ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์  เผยผลการประชุมของคณะอนุกรรมการด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ที่ไทยเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 7 – 9 ก.พ. 62 ว่า  ที่ประชุมได้หารือการจัดทำระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (เอดับเบิ้ลยูเอสซี)  ซึ่งจะเริ่มใช้งานในเดือน ก.ค.นี้ โดยเป็นไปตามเป้าหมายที่อาเซียนได้กำหนดไว้  เช่น ผู้ส่งออกที่จะขึ้นทะเบียนเพื่อรับรองถิ่นกำนิดสินค้าด้วยตนเอง สามารถเป็นได้ทั้งผู้ส่งออกและผู้ผลิต การกำหนดจำนวนผู้มีสิทธิขึ้นทะเบียน ไม่เกิน 10 คนต่อ1 บริษัท
 
นอกจากนี้ยังหารือ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง และรูปแบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่อนุญาตให้ประเทศผู้นำเข้าซื้อสินค้าโดยประเทศคนกลางในอาเซียนได้ ซึ่งที่ผ่านมาจะอนุญาตให้ซื้อจากประเทศผู้ผลิตและส่งตรงมายังผู้ซื้อเท่านั้น

 

นางอรมน เสริมว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการนำร่องระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง ทั้งโครงการนำร่องฯ ที่ 1 และโครงการนำร่องฯ ที่ 2 ในการส่งสินค้าไปประเทศสมาชิกอาเซียนมาแล้ว ตั้งแต่ปี53 และปี57 ตามลำดับ ซึ่งทั้งสองโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันไม่ต้องใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ในการขอใช้สิทธิพิเศษทางภาษีเพื่อส่งออกไปยังอาเซียน แต่สามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลา ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และลดความผิดพลาดในการกรอกข้อมูล

“จากการดำเนินโครงการนำร่องมาระยะหนึ่ง อาเซียนเห็นว่าควรปรับประสานโครงการนำร่องทั้ง 2 โครงการเข้าด้วยกัน จึงจัดทำระบบ เอดับเบิ้ลยูเอสซี ขึ้น เพื่อให้อาเซียนใช้ร่วมกันทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งไทยจะได้รับประโยชน์จากระบบดังกล่าวมากที่สุด เนื่องจากเป็นประเทศเดียวที่เข้าร่วมโครงการนำร่องทั้ง 2 โครงการ โดยระบบ เอดับเบิ้ลยูเอสซีจะลดความสับสนของผู้ประกอบการ เนื่องจากที่ผ่านมา หากผู้ประกอบการไทยต้องการใช้สิทธิภายใต้โครงการนำร่องใด ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขภายใต้โครงการนำร่องนั้น”นางอรมนกล่าว