ข่าวกฟผ.สั่งลุย!ทุ่ม6แสนล.สร้างโรงไฟฟ้า - kachon.com

กฟผ.สั่งลุย!ทุ่ม6แสนล.สร้างโรงไฟฟ้า
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย  ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)  เปิดเผยถึงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ปี 61-80 หรือพีดีพี 2018 ว่า  กฟผ. จะใช้วงเงินลงทุนรวม600,00 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า300,000 ล้านบาท และอีกส่วนเป็นการลงทุนระบบสายส่ง 300,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอที่ประชุมครม.เห็นชอบต่อไป โดยเน้นการใช้กู้เงินในประเทศเป็นหลักและต้องดำเนินการภายใน 5 ปี เพื่อให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าทยอยเข้าแผนตามเป้าหมาย และจะศึกษานวัตกรรมาทางการเงินใหม่ๆเข้ามาใช้เช่น การตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว1 กอง

สำหรับโรงไฟฟ้าหลักของกฟผ. จำนวน 5,400เมกะวัตต์ มี 8 แห่ง  เช่น โรงไฟฟ้าน้ำพอง ขนาด 650 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 68 , โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ขนาด 600 เมกะวัตต์  จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 69,โรงไฟฟ้าพระนครใต้ 700 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าปี 69  ซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเป็นหลักมีเพียงโรงไฟฟ้าแม่เมาะแห่งเดียว ที่เป็นถ่านหินลิกไนต์เท่านั้น

อย่างไรก็ตามแม้ตามแผนพีดีพีใหม่จะประเมินว่า สิ้นแผนในปี 80  กฟผ.จะเหลือส่วนแบ่งการผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเหลือ24% จากปัจจุบัน 35% เนื่องจากจะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่หลากหลายมากขึ้นแต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ระหว่างนี้ตัวเลขการประเมินจะเปลี่ยนไปเพราะแผนพีดีพีจะมีการประเมินและปรับปรุงทุกๆ5 ปี  และสัดส่วน 11% ที่หายไปนั้น กฟผ.อาจไปมีส่วนแบ่งในการผลิตไฟฟ้ารูปแบบอื่นเช่น โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่หรือโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อน ที่อยู่ในการดูแลของ กฟผ.ที่หากดำเนินการเต็มศักยภาพทั้ง 11 เขื่อนก็สามารถผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้ถึง 10,000 เมกะวัตต์



ส่วนจำนวนพนักงานกฟผ.ระยะต่อไป จะต้องเล็กลงให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่จะหลากหลายขึ้นโดยมีเป้าหมายภายใน 7 ปี พนักงานจะเหลือ 15,000 คน จากปัจจุบันประมาณ 20,000 คน แต่กฟผ.ไม่มีนโยบายการให้พนักงานออกเพียงแต่เมื่อพนักงานเกษียณอายุแล้ว จะไม่รับเข้ามาเพิ่มมากยกเว้นพนักงานส่วนที่มีความจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ โดยจะรับให้สอดคล้องกับความต้องการ และบางส่วนจะนำปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ เข้ามาใช้มากขึ้น



นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์กฟผ.ในฐานะโฆษกกฟผ. กล่าวว่า  กฟผ.ต้องปรับองค์กรให้สอดคล้องกับพีดีพีที่จัดโรงไฟฟ้าให้สอดรับกับความต้องการเป็นรายภูมิภาคและเทคโนโลยีที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้ารายภูมิภาค โดยปรับปรุงและพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่จะเป็นโรงไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่นเริ่มเดินเครื่องได้รวดเร็ว ปรับการทำงานให้เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น , พัฒนาระบบส่งไฟฟ้าเพื่อเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าไทยกับประเทศเพื่อนบ้านรองรับการเป็นศูนย์กลางซื้อขายไฟฟ้า ในภูมิภาคโดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมทางด้านเทคนิค กฎระเบียบ ภาษี และการพาณิชย์