ไทยยังบินเข้าสหรัฐไม่ได้สอบตกมาตรฐาน'เอฟเอเอ'
เศรษฐกิจ
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (เอฟเอเอ) เข้ามาดำเนินการตรวจสอบทางเทคนิคเกี่ยวกับมาตรฐานการบินของประเทศไทยในชื่อ International Aviation Safety Assessment (IASA) Technical Review ณ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 11-15 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อสอบทานระบบการกำกับดูแลการบินพลเรือนของประเทศไทยตามมาตรฐานและวิธีปฏิบัติขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO SARP) พร้อมเยี่ยมชมการปฏิบัติการบินและการซ่อมบำรุงของผู้ประกอบการการบินที่มีใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) ปรากฎว่า
พบข้อบกพร่อง 26 ข้อ โดยบางส่วนเป็นข้อบกพร่องที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขอยู่แล้ว และหลังจากนี้ภายใน 60 วัน เอฟเอเอ จะส่งรายละเอียดผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการผ่านสถานทูตสหรัฐอเมริกามาให้ CAAT ซึ่ง CAAT จะต้องแก้ไขข้อบกพร่องทั้งหมดให้เรียบร้อย และเมื่อมีความพร้อมก็ส่งหนังสือไปถึงเอฟเอเอ เพื่อขอรับการตรวจสอบอย่างเป็นทางการซ้ำอีกครั้ง
นายจุฬา กล่าวต่อว่า หากไทยผ่านการตรวจสอบ จะสามารถยกระดับมาตรฐาน จาก Category 2 กลับเป็น Category 1 คือประเทศที่มีระบบการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือนได้ตามมาตรฐานของเอฟเอเอ โดยจะมีผลให้สายการบินของไทยจะได้รับอนุญาตให้ปฎิบัติการบินเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาได้ รวมทั้งทำการบินเข้าประเทศที่อ้างอิงผลการตรวจของเอฟเอเอ เช่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ได้อย่างเสรี ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศของไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
นายจุฬา กล่าวอีกว่า ข้อบกพร่อง 26 ข้อดังกล่าวไม่มีนัยยะสำคัญต่อความปลอดภัยทางด้านการบิน เพราะส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย ที่ไทยกำลังดำเนินการร่าง พรบ.ทางเดินอากาศฉบับใหม่อยู่ รวมทั้งเรื่องการจัดหาบุคคลากรที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบ และใบรับรองเดินอากาศ ที่ขณะนี้ยังไม่สามารถหาได้ครบตามจำนวน อย่างไรก็ตาม กพท.มั่นใจว่าจะสามารถผลักดัน พรบ.เดินอาก่ศฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จ เพื่อเชิญเอฟเอเอเข้ามาตรวจสอบซ้ำได้โดยเร็ว
รายงานข่าวจาก กพท. แจ้งว่า เชื่อว่าไทยจะสามารถแก้ไขข้อบกพร่องทั้ง26ข้อได้ไม่ยาก เช่น ปัญหาทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการรองรับศูนย์ซ่อมเครื่องบินในต่างประเทศ ที่เอฟเอเอระบุว่าปัจจุบันไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับศูนย์ซ่อมเป็นทางการ ,ขั้นตอนการแต่งตั้งผู้ทดสอบภาคอากาศนักบินสำหรับผู้ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ ยังไม่ชัดเจน จึงขอให้ฝ่ายไทยแก้ไข เป็นต้น
ทั้งนี้เมื่อไทยแก้ไขข้อบกพร่องแล้วเสร็จให้ยื่นเรื่องให้เอฟเอเอเข้ามาตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง โดยเอฟเอเอระบุว่าหลังการยื่นเรื่องขอตรวจสอบซ้ำไทยอาจจะต้องรอคิวนาน 1-2ปี กว่าที่เอฟเอเอจะเข้ามาตรวจสอบได้ เนื่องจากขณะนี้มีหลายประเทศรอคิวอยู่ ซึ่งหมายความว่าอย่างน้อยใน1-2ปีนี้ไทยยังบินเข้าสหรัฐไม่ได้ เพราะต้องรอให้ผ่านการสอบซ่อมครั้งที่2และถูกปรับยกระดับมาตรฐาน เป็นCategory 1ก่อนจึงจะมีสิทธิ์บินเข้าสหรัฐได้