2ปีกว่าไมโครบัสบขส.ไม่เกิด
เศรษฐกิจ
รวมทั้งกำหนดเครื่องยนต์ต้องอยู่ท้ายรถเพื่อความสะดวกสบายและความปลอดภัย เพราะการวางเครื่องยนต์ท้ายรถไอเสียจะเข้าตัวรถน้อยกว่าขณะที่รถไมโครบัสส่วนใหญ่เครื่องยนต์อยู่ด้านหน้ารถ ทำให้ร้อน และเสียงดัง ตลอดจนต้องการระบบกันสะเทือนแบบถุงลมทำให้การขับนุ่มนวลและผู้โดยสารที่นั่งด้านหลังลดการกระทบกระเทือนเวลารถตกหลุม นอกจากนี้ยังมีความยาวของรถที่กำหนดไว้8 เมตร แต่ผู้ประกอบการต้องการ 8.5 เมตร เพื่อวางเครื่องยนต์ไว้ด้านท้ายได้
นายจิรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นสัปดาห์หน้าจะเปลี่ยนวิธีการประมูลในครั้งที่5 เป็นแบบเจาะจงด้วยการส่งหนังสือเชิญผู้ประกอบการที่สนใจจริงๆราว 2-3 ราย หากมีผู้ร่วมประมูลวางเป้าหมายลงนามสัญญาภายในเม.ย. 62 จากนั้นคู่สัญญาต้องส่งมอบรถภายใน 9 เดือน แบ่งเป็น 3 ล็อต คือ ล็อตแรก20 คัน คาดว่าจะได้รับรถภายใน 3 เดือนหลังลงนามสัญญา หรือ ก.ย.62 ล็อตสอง 20 คันและ ล็อตสุดท้าย 15 คัน แต่หากไม่มีผู้ร่วมประมูลอีกต้องปรับแก้ทีโออาร์ เปลี่ยนสเปกรถ อาทิ เครื่องยนต์วางไว้ด้านหน้าเพื่อเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการเข้ามาได้หลากหลาย ทั้งรถไมโครบัสจากยี่ห้อเบนซ์โตโยต้า ฮีโน่ และ รถจากประเทศจีน สำหรับราคากลางค่าเช่าต่อคันต่อวันครั้งก่อน 2,100-2,200 บาท ปรับค่าเช่าครั้งล่าสุด 3,000 บาทต่อคันต่อวัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดเช่ารถไมโครบัสของบขส.มาจากนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ยกเลิกรถตู้แล้วเปลี่ยนมาเป็นรถไมโครบัสแทน เนื่องจากมีสมรรถนะการขับขี่ปลอดภัยกว่ารถตู้ที่มักประสบอุบัติเหตุร้ายแรงก่อให้เกิดความสูญเสียจำนวนมาก อาทิ กรณีรถตู้ชนประสานงานรถปิกอัพเมื่อช่วงปีใหม่ 60 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 25 ราย แต่ผ่านไปกว่า 2 ปี ภาครัฐก็ไม่สามารถดำเนินนโยบายนี้ได้ ขณะที่มีกฎหมายเลิกใช้งานรถตู้อายุครบ 10 ปี ต้องจดทะเบียนใหม่เป็นรถไมโครบัสเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการรถตู้หลายรายไม่ลงทุนเปลี่ยนรถใหม่เพราะไมโครบัสราคาสูงกว่ารถตู้ สำหรับกรณีเกียร์ออโต้และเครื่องยนต์ไว้ด้านท้ายก็ทำให้ต้นทุนสูงกว่า 4-5 แสนบาท