ข่าว'ซีอีโอ'กลัวเอไอเปลี่ยนธุรกิจ ไทยร่วงประเทศน่าลงทุน - kachon.com

'ซีอีโอ'กลัวเอไอเปลี่ยนธุรกิจ ไทยร่วงประเทศน่าลงทุน
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจผู้บริหารระดับสูง(ซีอีโอ)ทั่วโลก ครั้งที่ 22 ประจำปี 62 ซึ่งใช้ในการประชุมสมัชชาเศรษฐกิจโลก (เวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรั่ม) โดยสำรวจความคิดเห็นซีอีโอทั่วโลกจำนวน 1,378 รายใน 91 ประเทศ มองว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะชะลอตัวจากปีก่อน เป็นมุมมองซีอีโออาเซียนถึง 46% เปรียบเทียบกับปีก่อนที่มีเพียง 10% และซีอีโอโลก 28% ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกชะลอลง จากปีก่อนมีเพียง 5% เท่านั้น เป็นผลจากความเสี่ยงความขัดแย้งทางการค้า ความไม่แน่นอนทางการเมือง ความไม่แน่นอนของนโยบาย กฎระเบียบข้อบังคับที่มากและเข้มงวดเกินไป และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ยังกระทบต่อความเชื่อมั่นการเติบโตของรายได้ในระยะ 12 เดือนข้างหน้าลดลงจาก 44% ในปีก่อนเหลือ 33% ในปีนี้ ขณะที่ 39% ของซีอีโออาเซียนเชื่อมั่นว่า รายได้ในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเติบโตลดลงจากปีก่อนที่ 53% โดยมีความเสี่ยงที่มีผลต่อความเชื่อมั่นซีอีโออาเซียน ได้แก่ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ 2. ภัยคุกคามทางไซเบอร์ และ 3.ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว



นายศิระ กล่าวว่า ซีอีโอยังกังวลการเข้ามาของระบบเอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ โดย 72% ของซีอีโออาเซียนคาดว่า การปฏิวัติของเอไอจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อโลก ยิ่งกว่าการปฏิวัติทางอินเทอร์เน็ตซึ่งเคยเกิดขึ้นในช่วงกลางของยุค 90 และ 87% ยังเห็นด้วยว่า เอไอจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจของตนอย่างมีนัยสำคัญในอีก 5 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้จากข้อมูลการสำรวจพบว่า ธุรกิจอาเซียนเกือบ 40% ยังไม่มีการนำเอไอเข้ามาใช้งานในปัจจุบัน ขณะที่อีก 32% มีแผนที่จะนำเอไอเข้ามาใช้งานในอีก 3 ปีข้างหน้า ส่วน 28% มีการใช้งานเอไอในวงจำกัด และมีเพียง 4% ที่มีการใช้เอไออย่างกว้างขวางและเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานในองค์กร



ขณะที่ตลาดน่าลงทุนในมุมมองของซีอีโออาเซียน ซึ่งจะช่วยผลักดันให้บริษัทเติบโตได้ในปีนี้ คืออันดับ 1 จีน อันดับ 2 อินโดนีเซีย อันดับ 3 สหรัฐ ส่วนไทยอยู่ที่อันดับ 8 ร่วมกับญี่ปุ่น กัมพูชา สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ซึ่งหล่นจากอันดับ 5 จากปี 61 และในปีนี้อยู่รองจากเวียดนาม ซึ่งอยู่อันดับ 4 ส่วนอันดับ 5 เป็นอินเดีย อันดับ 6 เมียนมา และอันดับ 7 มาเลเซีย