คมนาคมเพิ่มรถเมล์ 3 เส้นทางท่องเที่ยวเมืองกรุง
เศรษฐกิจ
-
สนับสนุนเนื่อหา
-
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการรองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง เมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมามีมติอนุมัติการเดินรถเส้นทางใหม่เป็นวงกลมใน 3 เส้นทาง เพื่อสนับสนุนการเดินทางของนักท่องเที่ยวในกรุงเทพฯให้ได้รับความสะดวก เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวในกลางเมืองได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ 1. เส้นทางสนามหลวง-เยาวราช-ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ 2. เส้นทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ประตูน้ำ-ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ และ3.เส้นทางท่าน้ำสี่พระยา-สาทร-ศูนย์การค้าสยาม โดยรถแต่ละเส้นทางจะผ่านจุดเชื่อมต่อไปสู่ระบบขนส่งสาธารณะโหมดอื่นๆ ได้ อาทิ รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที สถานีหัวลำโพง สถานีสามย่าน ,รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยามเซ็นเตอร์ สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ,เรือโดยสารคลองแสนแสบท่าเรือประตูน้ำ ท่าเรือผ่านฟ้า เรือข้ามฟากท่าเรือพระอาทิตย์ ท่าเรือพระจันทร์ ,เรือด่วนเจ้าพระยาท่าเรือมหาราช ท่าเรือท่าช้าง ท่าเรือสาทร เป็นต้น
นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า สำหรับรถที่จะนำมาให้บริการจะเป็นรถโดยสารปรับอากาศ มีอัตราค่าโดยสารเที่ยวละ 30 บาท และตั๋ววันในราคา 70 วันสามารถใช้บริการได้ทั้ง 3 เส้นทาง โดยไม่จำกัดจำนวนเที่ยว โดยมีประมาณการณ์ผู้โดยสารในแต่ละเส้นทาง ดังนี้ เส้นทางที่ 1 ประมาณ 1,600 คนต่อวัน เส้นทางที่ 2 ประมาณ 1,200 คนต่อวัน และเส้นทางที่ 3 ประมาณ 1,600 คนต่อวัน ทั้งนี้ที่ประชุมได้มอบให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ( ขสมก.)ไปจัดทำแผนการเดินรถให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้โดยสาร และให้นำกลับมาเสนอคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางพิจารณาอนุมัติโดยเร็วที่สุดก่อนจะเปิดให้บริการต่อไป อย่างไรก็ตามที่ประชุมมีข้อสังเกตให้ขสมก.ไปจัดหารถที่มีสภาพดีมาให้บริการ มีรูปแบบและสีสันสะดุดตาแตกต่างจากรถโดยสารทั่วไปอย่างชัดเจน รวมถึงผู้ขับรถและคนประจำรถควรมีความรู้ภาษาอังกฤษ และจีน เพื่อสื่อสารกับนักท่องเที่ยวได้
นายจิรุตม์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบแผนการปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง ตามที่กรมการขนส่งทางบก(ขบ.)เสนอ แต่การออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งให้คงใช้เส้นทางเดินรถตามโครงข่ายเดิมไปก่อน จำนวน 208 เส้นทางไปก่อน เนื่องจากหากมีการปรับเส้นทางใหม่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก เพราะอาจสร้างความสับสนจากการปรับเปลี่ยนชื่อและแนวเส้นทาง และอาจทำให้ผู้ใช้บริการต้องชำระค่าโดยสารเพิ่มขึ้นจากการตัดเส้นทางให้สั้นลง ขณะที่ผู้ประกอบการอาจเสียสิทธิในการเดินรถเนื่องจากเส้นทางถูกยุบ ส่งผลให้ต้องจัดหาสถานที่เก็บซ่อมและบำรุงรักษารถ จัดหาที่พักรถใหม่ เนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนจุดต้นทางหรือปลายทาง โดยแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการที่เดินรถในปัจจุบันได้ 6 กลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่มที่ ขสมก.เดินรถเอง 88 เส้นทาง 2. กลุ่มที่มีรถร่วมเอกชนรายเดียว 59 เส้นทาง 3. กลุ่มที่ ขสมก.เดินรถกับรถร่วมเอกชนรายเดียว 8 เส้นทาง 4.กลุ่มที่ ขสมก.เดินรถร่วมกับรถร่วมเอกชนหลายราย 21 เส้นทาง 5. กลุ่มที่รถร่วมเอกชนเดินรถร่วมกันหลายราย 31 เส้นทาง และ 6 กลุ่มเส้นทางใหม่ที่ยังว่างผู้ประกอบการ 1 เส้นทาง
นายจิรุตม์ กล่าวว่า สำหรับการขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่ง นั้น รถในกลุ่มที่มีสัญญาอยู่กับขสมก.ให้ ขสมก.ไปพิจารณาสิทธิในการเดินรถว่าจะให้กับใคร เพื่อแจ้ง ขบ.เพื่อให้ออกใบอนุญาตให้ตามนั้น ส่วนกลุ่มอื่นให้เจรจากันและแจ้งไปยังขบ.ว่าจะให้ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายใด อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดการปฏิรูปที่ชัดเจน ที่ประชุมได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำคัญในการขอรับใบอนุญาตฯ ได้แก่ คุณสมบัติผู้ยื่นขอต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และตัวรถต้องเป็นรถใหม่หรือรถที่มีอายุไม่เกิน 2 ปี ซึ่งจะต้องมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 70%ของจำนวนรถที่บรรจุในเส้นทางนั้นภายในระยะเวลา 2 ปี หากทำไม่ได้ต้องออกจากระบบและจะประกาศหาผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแทน ทั้งนี้ภายใน 2 ปีที่อยู่ระหว่างการจัดหารถใหม่ต้องนำเสนอแผนการปรับปรุงตัวรถให้ขบ.พิจารณา เช่น การติดตั้งจีพีเอสในรถทุกคัน และแผนปลอดภัย เป็นต้น ทั้งนี้ ขสมก.และผู้ประกอบการต้องทยอยขอใบอนุญาตฯใหม่โดยเร็ว เพราะใบอนุญาตในแต่ละเส้นทางทยอยหมดอายุลงแล้ว