ข่าวกฎหมายเดินอากาศใหม่เอื้อเฮลิคอปเตอร์การแพทย์ - kachon.com

กฎหมายเดินอากาศใหม่เอื้อเฮลิคอปเตอร์การแพทย์
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ CAAI ว่า บริษัท CAA International (CAAI) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งราชอาณาจักร หรือ UK Civil Aviation Authority (UK CAA) ฐานะที่ปรึกษาของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้รายงานความก้าวหน้าการวางโครงสร้างกฎหมายลูก ซึ่งจะอยู่ใน พ.ร.บ.การเดินอากาศ ฉบับใหม่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยกฎหมายใหม่ทั้งหมดจะครอบคลุมตามโครงสร้างขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ทั้งหลักการออกใบอนุญาตต่างๆ ให้กับนักบิน สายการบิน รวมถึงการส่งเสริมการผลิตอากาศยาน 

นายอาคม กล่าวว่า กฎหมายการเดินอากาศฉบับใหม่ทั้งกฎหมายแม่และกฎหมายลูก มีประเด็นสำคัญเรื่องการเอื้อให้เฮลิคอปเตอร์ทำการบิน ทั้งเฮลิคอปเตอร์ทางการแพทย์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางไปโรงพยาบาล รวมถึงเฮลิคอปเตอร์เพื่อธุรกิจที่จะรองรับพื้นที่ระเบียบเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีใช้ในหลายประเทศแต่ไทยยังไม่มี

นายอาคม ยังกล่าวถึงผลการตรวจสอบของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (เอฟเอเอ) ที่ระบุว่า ไทยยังไม่ผ่านเพราะพบข้อบกพร่อง 26 ข้อต้องเร่งแก้ไขนั้นเรื่องนี้ไม่ได้กังวล เพราะไทยยังไม่มีการบินเข้าสหรัฐ แต่เป้าหลักเวลานี้มุ่งแก้ไขข้อบกพร่องที่เหลืออีก 400 ข้อขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) เพื่อรองรับการมาตรวจในเดือน พ.ค.นี้ให้แล้วเสร็จก่อน จากนั้นจะจัดทำแผนสร้างองค์กร บุคลากรและนโยบายส่งเสริมการบิน อย่างยั่งยืนต่อไป



ด้าน ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.การเดินอากาศ ฉบับใหม่ อยู่ระหว่างการพิจารณาของพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยภายในเดือน ก.พ.นี้และมีผลบังคับใช้ในเดือน มี.ค.จากนั้นจะทยอยยกเลิกกฎหมายเก่าเพื่อให้กฎหมายการเดินอากาศของไทยมีความเป็นสากลมากขึ้น โดยระหว่างนี้ได้จัดทำกฎหมายลูกควบคู่ไปด้วย โดยมีกฎหมายรองสำคัญที่แก้ไข ได้แก่ การผ่อนปรนเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย จากเดิมที่จะบินได้เฉพาะสนามบิน หรือลงจอดเฉพาะลายจอดที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น เป็นให้สามารถลงจอดในพื้นที่จำเป็น หรือพื้นที่ที่มีอุบัติเหตุมากได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเพียงแค่แจ้งบริษัทวิทยุการบิน เพื่อเคลียร์เส้นทางจราจรทางอากาศให้ เช่น บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและบรรเทาการจราจรในพื้นที่หนาแน่น

ดร.จุฬา กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องที่ไอเคโอจะเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานการบินของไทยซ้ำ ซึ่งยังมีข้อบกพร่องที่ไม่มีนัยยะสำคัญประมาณ 400 ข้อ นั้นไอเคโอ ได้กำหนดจะเข้ามาตรวจ ในวันที่ 13-24 พ.ค.นี้ ซึ่งมั่นใจว่าไทยจะผ่านหลักเกณฑ์ได้คะแนนเกินมาตรฐานที่ไอเคโอ คือ 60% แน่นอน ซึ่งขณะนี้ไทยมีคะแนนอยู่ที่ 44% โดยไม่มีข้อกังวลแล้ว หากได้คะแนนสูงจะส่งผลไปถึงการตรวจสอบทางเทคนิคเกี่ยวกับมาตรฐานการบินประเทศไทยของเอฟเอเอด้วย