ไปกันปั่นลุยพัทยา 3 วันลดก๊าซเรือนกระจก
เศรษฐกิจ
นายกฤษณ์ ภูมิสุวรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 (เมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง อ.บางละมุง และ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี) เปิดเผยว่า องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ได้จัดกิจกรรมปั่นเที่ยวสุขใจไปกับ อพท.3 ทานหมด งดขยะ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือ Trian to Bike Style Low Carbon 2019 ณ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ในวันที่ 4-6 มี.ค. นี้
นายกฤษณ์ กล่าวต่อว่า เป็นกิจกรรมต้นแบบเพื่อวัดผลการเดินทางท่องเที่ยวรูปแบบดังกล่าวจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดย มก. จะเป็นหน่วยงานที่คำนวณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และหาแนวทางชดเชยจำนวนการปล่อยก๊าซที่สูญเสียไป เช่น การปลูกต้นไม้ทดแทน ซึ่งมีการคำนวณเบื้องต้นว่าหากเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลจากกรุงเทพฯ มาเมืองพัทยา โดยใช้รถยนต์ 1 คันจะปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ มากกว่าการเดินทางด้วยรถไฟถึง 8 เท่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ด้วย
นายกฤษณ์ กล่าวอีกว่า กิจกรรมนี้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 30 คน เริ่มตั้งแต่การเดินทางด้วยรถไฟออกจากสถานีหัวลำโพงมายังเมืองพัทยา จากนั้นจะปั่นจักรยานท่องเที่ยวในชุมชน และรับประทารอาหารท้องถิ่น สำหรับกิจกรรมปั่นจักรยานระยะทางรวม 100 กม. แบ่งเป็นวันแรกปั่นภายในชุมชนตะเคียนเตี้ย 40 กม. ซึ่งเป็นเส้นทางปั่นที่ อพท. กับคนในชุมชนพัฒนาขึ้นมา อาทิ ปั่นในสวนมะพร้าวชุมชนตะเคียนเตี้ย เพื่อให้จับจ่ายใช้สอยผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมะพร้าว
นายกฤษณ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนวันที่ 2 จาก อ.บางละมุง-เขาชีจรรย์ อ.สัตหีบ 40 กม. โดยใช้เส้นทางสายรองของถนนทางหลวงชนบท ที่ อพท. ร่วมกับกรมทางหลวงชนบท (ทช.) พัฒนาเส้นทางปั่นและป้ายบอกทางเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ตลอดเส้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักปั่นจักรยานเห็นชัดเจนและปลอดภัย และวันที่ 3 ปั่นรอบโครงการป่าสิริเจริญวรรษ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 18 กม. อย่างไรก็ตามกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวด้วยจักรยานในชุมชนในเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง อ.บางละมุง และ อ.สัตหีบ สร้างการรับรู้ให้นักท่องเที่ยวเป็นทางเลือกการท่องเที่ยวแบบไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนมากขึ้น