ปตท. รายได้นำส่งรัฐปี 61 กว่า 82,220 ล้านบาท
เศรษฐกิจ
ส่วนของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น และธุรกิจน้ำมันมีผลประกอบการที่ลดลง สาเหตุหลักมาจากการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน อีกทั้งธุรกิจปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์และสายโอเลฟินส์ก็มีผลการดำเนินงานลดลงตามส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบที่ลดลงโดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2561 แม้ว่าปริมาณขายโดยรวมจะเพิ่มขึ้นจากความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ยังอยู่ในระดับสูง
นอกจากนั้นยังมีปัจจัยที่ทำให้กำไรของ ปตท. ลดลงจากค่าใช้จ่ายทางภาษีเพิ่มขึ้นตามผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และการปรับโครงสร้างหน่วยธุรกิจน้ำมัน ในขณะที่การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ครบวงเงินแล้ว
อย่างไรก็ตามกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น กลับมีปัจจัยเชิงบวกที่ทำให้ผลประกอบการดีขึ้น โดยธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลประกอบการเพิ่มขึ้นจากราคาและปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นทั้งในส่วนที่ ปตท. ดำเนินการเองและดำเนินการโดยบริษัทในกลุ่ม และธุรกิจการค้าระหว่างประเทศมีผลการดำเนินงานดีขึ้นทั้งจากกำไรขั้นต้นต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้นและปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น
จากปัจจัยต่างๆ ส่งผลให้การดำเนินงานของ ปตท. ปี 2561 มีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 1.4 ล้านล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงาน 59,160 ล้านบาท และเมื่อรวมผลการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่ม ส่งผลให้ ปตท.และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 2.3 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 17) และมีกำไรสุทธิ 119,684 ล้านบาท (ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 11) คิดเป็นกำไร 4.15 บาทต่อหุ้น ซึ่งคณะกรรมการ ปตท.ได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลจำนวน 2.00 บาทต่อหุ้น ส่งผลให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกองทุนวายุภักษ์จะได้รับเงินปันผลรวมประมาณ 36,258 ล้านบาท และเมื่อรวมกับภาษีเงินได้นิติบุคคลของ ปตท. และบริษัทในเครืออีกประมาณ 45,962 ล้านบาท รวมเป็นรายได้นำส่งรัฐจากกลุ่ม ปตท.
สำหรับผลประกอบการปี 2561 รวมประมาณ 82,220 ล้านบาท ทั้งนี้ กำไรของ ปตท. ภายหลังการจ่ายเงินปันผลให้แก่รัฐและผู้ถือหุ้น จะนำไปลงทุนเพิ่มเติมในโครงการต่างๆ ที่สำคัญ รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานด้านกิจการเพื่อสังคม ตามแนวทางการบริหารจัดการความยั่งยืนกลุ่ม ปตท.
นายชาญศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับด้าน Prosperity ปตท. ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจอย่างมีหลักธรรมาภิบาล ดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล ซึ่งปี 2561 ได้ลงทุนเพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติและครอบคลุมการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ
นอกจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ปตท. ยังเน้นการเพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบปิโตรเลียมขั้นต้น โดยนำไปผลิต ปิโตรเคมีขั้นพื้นฐาน พัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นสูง (Specialty & Engineering Plastics) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี ปตท. ในฐานะองค์กรด้านพลังงานของประเทศ ยังพร้อมสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐ ด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ให้เป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต