ข่าวช ทวีฯ ทุ่มกินรวบรถเมล์ร่วม ยกระดับคุณภาพบริการ - kachon.com

ช ทวีฯ ทุ่มกินรวบรถเมล์ร่วม ยกระดับคุณภาพบริการ
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO เปิดเผยว่า ได้จัดตั้งบริษัทอมรรัตนโกสินทร์จำกัด โดยช ทวีฯ ถือหุ้น 100% เพื่อรวบรวมรถร่วมบริการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มาบริหารเองทั้งหมด ขณะนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้ว 40 ราย รวมรถเมล์ 2,000 กว่าคัน  เกือบ 100% ของผู้ประกอบการรถร่วม ขสมก.ที่มี 40 กว่าราย รถเมล์ทั้งหมด 3,000 พคัน  แต่ให้บริการจริง 1,700-2,000 คัน อายุใช้งาน 10-30 ปี จากนั้นจะจัดซื้อรถเมล์ใหม่ทั้งหมด 2,000 คัน ให้เป็นมาตรฐานบริการเดียวกันทั้งหมด ใช้วงเงินลงทุน 10,000 กว่าล้านบาท หรือคันละ 4 ล้านกว่าบาท ส่วนรถเก่าที่ซื้อมาหากอายุใช้งานไม่มากจะปรับโฉมใหม่ให้ทันสมัย ขณะที่รถเก่าที่มีสภาพใช้งานไม่ได้จะขายเป็นเศษเหล็ก จากนั้นจะทยอยจัดซื้อรถเมล์ใหม่เข้ามาให้บริการ ปีละ 400-500 คัน โดยปี 62 นี้จะซื้อก่อน 300-400 คัน เพื่อนำร่องเป็นต้นแบบ (โมเดล) ก่อน คาดว่าจะจัดซื้อครบทั้ง 2,000 คัน ประมาณปี 66-67   

นายสุรเดช กล่าวต่อว่า ช ทวีฯ จะเปิดรับสมัครพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร อาจเป็นพนักงานที่ทำงานอยู่ในบริษัทรถร่วมเดิมที่มีประวัติการทำงานดีมีคุณภาพการมาให้บริการ ซึ่งพนักงานเหล่านี้จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะรับรายได้เป็นเดือนมีสวัสดิการ มีประกันสังคม การตรวจสุขภาพ และอบรมการให้บริการที่ดี  แตกต่างจากปัจจุบันที่พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารได้รับค่าจ้างเป็นรายวันหรือเฉลี่ย 10,000-20,000 บาทต่อเดือน ไม่มีความมั่นคง ยืนยันว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมแน่นอน



นายสุรเดช กล่าวต่อว่า สำหรับรถที่ซื้อใหม่จะเป็นรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี)  ขนาด 8 เมตร รองรับได้ 30 คน และ ขนาด 10 เมตร รองรับได้ 60 คน  นำเข้าจากประเทศจีนแล้วประกอบภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมการจ้างแรงงานภายในประเทศ พร้อมอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งฟรีไวไฟให้ผู้โดยสารใช้เน็ตทำงานผ่านสมาร์ทโฟนขณะนั่งรถเมล์ได้ ติดตั้งระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (อีทิคเก็ต) แต่ช่วงปีแรกจะใช้พนักงานไปก่อน อนาคตเมื่อคุ้นชินระบบอีทิคเก็ตจะไม่ใช้พนักงาน รวมทั้งพัฒนาแอพพลิเคชั่นตรวจสอบตำแหน่งรถเมล์ป้ายรถเมล์ เส้นทาง และพนักงานขับรถ เพื่อวางแผนการเดินทางได้ โดยรถเมล์จะวิ่งให้บริการในเส้นทางเดิมขณะเดียวกันจะรองรับการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ 269 เส้นทางที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ดำเนินการด้วย เพราะถ้าเป็นเอกชนรายเดียวบริหารจัดการจะไม่มีปัญหาวิ่งทับเส้นทางหรือแย่งผู้โดยกัน  

นายสุรเดช กล่าวต่อว่า อยากให้ภาครัฐ ออกกฎหมายส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ  เหมือน จ.ขอนแก่น จะช่วยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางได้จำนวนมาก เพื่อแก้ไขปัญหารถติด อาทิ บริษัทต่างๆ ออกตั๋วรายเดือนมีส่วนลดค่าตั๋วรายเดือนให้จาก 1,000 บาท ลดเหลือ 600-700 บาท ทำให้ค่าใช้จ่ายเดินทางของมนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพฯ ลดลง หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เหมือนกับต่างประเทศ ซึ่งภาครัฐอาจตั้งกองทุนสนับสนุนภาคเอกชนหรือมาตรการลดภาษี ช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้รถเมล์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะช่วยให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นด้วย