ยันการใช้สิทธิฯของอาร์เซ็ปสะดวก-โปร่งใส
เศรษฐกิจ
“ความตกลงอาร์เซ็ปประกอบด้วยสมาชิกที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ความพร้อมและโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี รวมถึงระบบการดำเนินพิธีการศุลกากรที่แตกต่างและหลากหลาย ส่งผลให้แต่ละประเทศมีจุดยืนในประเด็นการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามเพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ประกอบการ กรมฯ ในฐานะหน่วยงานรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางการค้าหน่วยงานเดียวของไทย จึงได้กำหนดกรอบแนวทางการเจรจาในประเด็นดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกทางการค้า สอดคล้องรูปแบบการค้าสมัยใหม่ และมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการปฏิเสธการให้สิทธิฯ จากปลายทาง”
นายอดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ ได้พัฒนาและปรับปรุงระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวก ลดต้นทุนและเวลาให้แก่ผู้ประกอบการ โดยมั่นใจว่าหากการเจรจาระเบียบปฏิบัติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าบรรลุข้อตกลงตามแนวทางที่กรมฯ ได้ตั้งเป้าหมาย ด้วยความพร้อมของระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า จะทำให้การใช้สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบการได้รับความสะดวก ประหยัด และมีความโปร่งใสทั้งในขั้นตอนการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าและการขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ณ ปลายทางมากยิ่งขึ้น