เห็นชอบลดภาษีผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเหลือ0%
เศรษฐกิจ
“มาตรการที่ออกมาจะทำให้เกิดการผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า เดิมมาตรการสนับสนุนบองสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ กำนดอัตราภาษีไว้ที่ 2% ในปี 66 แต่เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและช่วยส่งเสริมการผลิตรถยนต์ประเภทนี้เร็วขึ้นจึงปรับลดเหลือ 0% และเมื่อถึงปี 66 ก็ให้กลับไปใช้มาตรการของบีโอไอต่อไปที่เก็บภาษีอยู่ที่ 2%”
นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี ในฐานะรองโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การที่ ครม.เห็นชอบมาตรการปรับลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์เพื่อให้สอดรับกับนโยบายการลดมลพิษพีเอ็ม คาดว่าจะทำให้ต้นทุนทางภาษีของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในปี 63-65 รวมถึงผู้ผลิตรถกระบะที่ใช้เครื่องยนต์ยูโร 5 ที่ปล่อยฝุ่นพีเอ็มไม่เกิน 0.005 กรัมต่อกิโลเมตร และรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลบี 20 ลดลง โดยประเมินว่าหากรถราคาคันละ 1 ล้านบาท จะลดลงคันละ 2-3 หมื่นบาท และหากค่ายรถมีการทำโปรโมชันราคาก็จะลดลงได้อีก ซึ่งช่วยกระตุ้นให้คนไทยหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้เพิ่ม
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า รายละเอียดการลดภาษีในส่วนรถกระบะ มีดังนี้ รถกระบะแบบไม่มีแคบ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 200 กรัมต่อกม. หากปล่อยพีเอ็มไม่เกิน 0.005% จะลดภาษีจาก 2.5% เหลือ 2% รถยนต์กระบะแบบไม่มีแคบ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 200 กรัมต่อกม. ลดภาษีจาก 4% เหลือ 3% รถยนต์กระบะสเปซแคบ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 200 กรัมต่อกม. ลดภาษีจาก 4% เหลือ 3% รถยนต์กระบะสเปซแคบ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 200 กรัมต่อกม. ลดภาษีจาก 6% เหลือ 5% รถยนต์กระบะ 4 ประตูที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 200 กรัมต่อกม. ลดภาษีจาก 10% เหลือ 9% รถยนต์กระบะ 4 ประตู ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 200 กรัมต่อกม. ลดภาษีจาก 13% เหลือ 12% รถยนต์กระบะ 4 ประตูแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 175 กรัมต่อกม. ลดภาษีจาก 8% เหลือ 6%
ทั้งนี้คาดจะกระตุ้นให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์พัฒนามาตรฐานการปล่อยมลพิษของรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลให้มีประสิทธิภาพในการลดฝุ่นพีเอ็มตามมาตรฐานยูโร 5 ได้เร็วยิ่งขึ้น และจะลดค่าเฉลี่ยรถยนต์ที่ปล่อยฝุ่นพีเอ็มลง 5 เท่า เหลือ100 กรัมต่อคันต่อปี และส่งผลให้รถยนต์ปล่อยฝุ่นพีเอ็มลดลงในแต่ละปีลดลง 76 ล้านกรัมต่อปี และที่สำคัญจะลดผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนและค่าใช้จ่ายภาครัฐเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล