ข่าววิกฤติภัยแล้งฉุดความเสียหายเศรษฐกิจ15,300 ล้าน - kachon.com

วิกฤติภัยแล้งฉุดความเสียหายเศรษฐกิจ15,300 ล้าน
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s
รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยแจ้งว่า  ภัยแล้งในปีนี้ได้เริ่มส่งสัญญาณให้เห็นจากฤดูร้อนที่มาเร็วและนานกว่าทุกปี ทำให้ปริมาตรน้ำในเขื่อนหลักอยู่ในระดับต่ำ  ซึ่งฤดูแล้งที่เกิดขึ้นอาจลากยาวจนถึงเดือนพ.ค.62 อาจกระทบในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด  และจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวนาปรัง และอ้อยเป็นหลัก อาจทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 15,300 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.1%  ของจีดีพี ทั้งนี้ หากรวมผลเสียหายของพืชเกษตรอื่น อาจทำให้มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้

สำหรับข้าวนาปรังเป็นผลผลิต 23.5%  ของผลผลิตข้าวทั้งประเทศ โดยในช่วงที่เกิดภัยแล้งหนักใน เดือนมี.ค.-พ.ค.62 ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังเพื่อออกสู่ตลาดกว่า 75%  ของปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังทั่วประเทศ อาจทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังได้รับความเสียหาย และอาจช่วย ดันราคาข้าวในช่วงนี้ให้ขยับขึ้นได้   แต่โดยภาพรวมราคาข้าวทั้งประเทศปีนี้หดตัว เพราะปริมาณผลผลิตข้าวนาปรังมีเพียงราว 1 ใน 4 ของปริมาณข้าวทั้งประเทศ จึงอาจยังไม่มี น้ำหนักมากพอในการผลักดันให้ภาพรวมราคาข้าวขยายตัวได้ในแดนบวก จึงคาดว่าราคาข้าว เฉลี่ยในปีนี้อยู่ที่ 10,650-10,740 บาทต่อตัน หรือหดตัว 0.8-1.7%  ขณะที่อ้อยปีนี้ราคาหดตัว ตามแนวโน้มราคาน้้าตาลทรายดิบใน ตลาดโลกที่อยู่ในช่วงขาลง เนื่องจากผลผลิตอ้อยในตลาดโลกอยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะบราซิล จึงคาดว่า ราคาอ้อยเฉลี่ยในปีนี้อยู่ที่ 750-760 บาทต่อตัน หรือหดตัว  1.3-2.6%

นอกจากนี้ ยังต้องมีการติดตามระยะเวลาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะ และอาจต้องมีการทบทวนตัวเลขนี้ตามความเหมาะสมในระยะต่อไป รวมทั้งต้องติดตามสภาพภูมิอากาศในช่วงระยะข้างหน้า เนื่องจากยังไม่สิ้นสุดฤดูแล้ง และระดับความรุนแรงของฤดูแล้งอาจไม่เท่ากันในแต่ละเดือน  อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าตัวเลขผลกระทบดังกล่าวอาจมีผลไม่มากนักต่อภาพรวมเศรษฐกิจในระดับประเทศ รวมทั้งไม่กระทบต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยในปัจจุบัน ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.2% ในปีนี้  แต่ในระดับภูมิภาค จากเหตุการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อคนในพื้นที่ ซึ่งจะยิ่งเป็นการฉุดกำลังซื้อครัวเรือนภาคเกษตร การมีงานทำ รวมทั้งปัญหาในภาคธุรกิจเอสเอ็มอี

"ต้องจับตาระดับความรุนแรงของสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเดือนเม.ย.ที่จะเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น เกษตรกรอาจต้องมีการวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำอย่างเหมาะสม หรือเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยทดแทนเพื่อเป็นรายได้เสริม นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังต้องระมัดระวังในการใช้น้ำ ตลอดจนต้องมีการเตรียมพร้อม/วางแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำดังกล่าวได้อย่างเป็นระบบ ก็อาจช่วยลดผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร ซึ่งอาจส่งผลต่อธุรกิจที่ต้องอาศัยกำลังซื้อของกลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก ท่ามกลางภาวะที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงให้ภาพที่ไม่ดีนัก"