ข่าวแอพฯ 'นำทาง' เช็กการเดินทางเวิร์ค เล็งใช้ต่างจังหวัด - kachon.com

แอพฯ 'นำทาง' เช็กการเดินทางเวิร์ค เล็งใช้ต่างจังหวัด
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 มี.ค. ที่โรงแรมแมนดาริน กรุงเทพฯ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดประชุมสัมมนาประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 โครงการศึกษาระบบนำทางการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะภายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ว่า การเปิดใช้งานแอพพลิเคชัน ”นำทาง” (NAMTANG) ในครั้งนี้
จะเป็นหนึ่งในตัวอย่างในการพัฒนาการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ประโยชน์กับงานด้านคมนาคม และตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของกระทรวงที่ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงระบบคมนาคม เพราะมีจุดเด่นด้านฐานข้อมูลทุกหน่วยงานที่อยู่ในสังกัดกระทรวงคมนาคม อาทิ รถไฟฟ้า รถไฟ เรือโดยสาร และรถเมล์ ที่รวบรวมข้อมูลใส่ไว้ในแอพฯ และอัพเดทข้อมูลได้ตลอดเวลา สามารถใช้งานแบบออนไลน์ เพื่อให้ผู้ใช้งานตัดสินใจรูปแบบการเดินทางได้ ทั้งระบบขนส่งสาธารณะที่จะใช้ เส้นทาง และราคาค่าโดยสาร หวังว่าจะมีประโยชน์อย่างยิ่ง

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า แอพฯ นำทาง จะนำร่องใช้ในกรุงเทพฯ และ ปริมณฑลก่อน เพราะปัจจุบันมีระบบขนส่งสาธารณะหลากหลาย เป็นศูนย์การเดินทางของไทยคืออยู่ที่กรุงเทพฯ และมีการเดินทางทุกโหมดด้านคมนาคมในกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 10 ล้านคนเที่ยวต่อวัน หลังจากเปิดแอพฯ นำทางให้บริการแล้ว ทั้งระบบแอนดรอยด์ และไอโอเอสฟรี สนข. ต้องประชาชนสัมพันธ์ให้เข้าถึงประชาชนมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด รวมทั้งประเมินและติดตามผลการใช้งานอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาปรับปรุงแอพฯ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่ใช้งาน



นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า ตลอดจนพัฒนาแอพฯ ให้รองรับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่จะเกิดขึ้นอนาคตด้วย เช่น รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) และรถไฟทางคู่ ทั้งนี้หากแอพฯ นำทางประสบความสำเร็จมีแนวคิดที่จะนำแอพฯ นำทาง ไปใช้ในจังหวัดที่มีปัญหาการจราจร และมีการศึกษาระบบขนส่งสาธารณะมาใช้ อย่าง รถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา ขอนแก่น โมโนเรล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พิษณุโลก และ อุดรธานีต่อไป ขณะเดียวกันโครงการดังกล่าวจะเป็นฐานข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลการเดินทางระบบขนสาธารณะอาทิ เส้นทางที่มีการเดินทางจำนวนมาก จำนวนผู้เดินทาง จุดหมายปลายทางที่นิยม ช่วงเวลา ระบบขนส่งสาธารณะที่ใช้ และการเชื่อมต่อการเดินทาง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้กระทรวงนำข้อมูลไปวางแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะโครงข่ายสำหรับประชาชนที่เลือกบริการเดินทางได้

รายงานข่าวจาก สนข. แจ้งว่า ปัจจุบันแอพฯ มีความพร้อมใช้งานแล้ว มียอดดาวน์โหลดใช้งานประมาณ 500 กว่าครั้ง ซึ่งได้รับการตอบรับดีจากผู้ใช้งาน เพราะสามารถใช้ประโยชน์ในการเดินทาง เพราะแอพฯ นำทาง มีข้อมูลที่ตรง แม่นยำและเสถียร ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทดลองใช้แอพฯ นำทาง ยังมีปัญหาบ้าง ในเรื่องข้อมูลยังไม่ครบ อาทิ จีพีเอสรถเมล์ ไม่เห็นป้ายรถเมล์ ทำให้ตำแหน่งป้ายรถเมล์คาดเคลื่อน จนปัจจุบันพัฒนาแอพฯ นำทางพร้อมใช้งานเกือบสมบูรณ์แล้ว