ข่าวเลิกใช้อีทิคเก็ตรถเมล์ เปลี่ยนใช้เครื่อง EDC รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแทน - kachon.com

เลิกใช้อีทิคเก็ตรถเมล์ เปลี่ยนใช้เครื่อง EDC รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแทน
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ และรักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. นี้ ขสมก. ได้รับความร่วมมือจากธนาคารกรุงไทย โดยการนำเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EDC (Electronic Data Capture) มาใช้รับชำระค่าโดยสาร บนรถโดยสาร (รถเมล์) ของ ขสมก. รวม 2,816 คัน แบ่งเป็นรถเมล์ธรรมดา (รถเมล์ร้อน) 1,520 คัน และรถเมล์ปรับอากาศ (รถเมล์แอร์) 1,296 คัน เพื่อรองรับการใช้สิทธิบริการรถโดยสารของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐรุ่นแรก (เวอร์ชั่น 2.0), บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) (เวอร์ชั่น 2.5) และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเวอร์ชั่น 4.0

นายประยูร กล่าวต่อว่า โดยผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะต้องแจ้งจุดหมายปลายทางที่จะลงแก่พนักงานเก็บค่าโดยสาร เพื่อให้พนักงานระบุค่าโดยสารบนเครื่อง EDC ให้ตรงกับอัตราค่าโดยสารตามจุดหมายปลายทางที่จะลง  ก่อนนำบัตรไปแตะที่หน้าจอบนเครื่อง EDC เพื่อให้เครื่องหักค่าโดยสารออกจากวงเงินในบัตร ซึ่งพนักงานเก็บค่าโดยสาร จะคอยให้คำแนะนำ วิธีการใช้งานแก่ผู้ใช้บริการ  สำหรับผู้ใช้บริการที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถใช้บริการโดยชำระค่าโดยสารด้วยเงินสด  สำหรับผู้ใช้บริการที่มีบัตรโดยสารล่วงหน้า สามารถใช้บัตรดังกล่าวในการใช้บริการได้ตามปกติ ทั้งนี้ ในอนาคต ขสมก. และธนาคารกรุงไทย จะมีการพัฒนาเครื่อง EDC ให้สามารถรองรับการชำระค่าโดยสารผ่านระบบคิวอาร์โค้ด (QR Code) และบัตร EMV ของธนาคารต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้บริการรถโดยสารของ ขสมก. อีกด้วย



ด้านนายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการ (บอร์ด) ขสมก. กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (อีทิคเก็ต) และเครื่องเก็บค่าโดยสาร หรือกล่องเก็บค่าโดยสาร “แคชบ็อกซ์” (Cash box) บนรถเมล์ 2,600 คัน วงเงิน 1,665 ล้านบาท สัมปทาน 5 ปี โดยมีบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) เป็นคู่สัญญานั้น เมื่อประชุมบอร์ดเดือน ก.พ.62 ขสมก. ได้เสนอให้ยกเลิกโครงการฯ มติบอร์ดได้เห็นชอบให้ยกเลิกในหลักการ พร้อมทั้งให้พิจารณาข้อกฎหมายและแนวทางดำเนินการให้รอบคอบต่อไป 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขสมก. ได้ยกเลิกการใช้งานอีทิคเก็ตแล้ว เนื่องไม่สามารถตรวจรับงานระบบอีทิคเก็ตจากบริษัทดังกล่าวได้ เพราะอุปกรณ์ไม่เสถียร ไม่สามารถใช้งานได้ และเตรียมบอกสัญญากับบริษัท ช ทวีฯ ต่อไป ก่อนหน้านี้แม้ ขสมก. จะให้ ช ทวีฯ ติดตั้งอีทิคเก็ตครบทั้งหมดแล้วเกือบ 2,600 คัน และมีการทดลองและเปิดใช้บริการบ้างแล้วบางส่วน แต่ยังพบว่าใช้ได้เฉพาะบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเวอร์ชั่น 2.0 เท่านั้น ส่วนเวอร์ชั่น 2.5 ที่มีการใช้ร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีน้ำเงินยังใช้ไม่ได้ เพราะ ช ทวีฯ ต้องไปปรับปรุงระบบให้เวอร์ชั่น 2.5 ก่อน เพื่อรองรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2.5 และบัตรแมงมุมได้