ข่าวสมาร์ทบัสเชียงใหม่ขอขึ้นราคา - kachon.com

สมาร์ทบัสเชียงใหม่ขอขึ้นราคา
เศรษฐกิจ

photodune-2043745-college-student-s

นายภูวนารถ ยกฉวี กรรมการรองผู้จัดการบริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่นจำกัด หรือ RTC ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะ (รถเมล์) สมาร์ทบัสเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ผลการเปิดให้บริการสมาร์ทบัส 3 สายครบ 1 ปี ปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ย 2,000 คนต่อวัน เป็นนักท่องเที่ยว 60% คนเชียงใหม่ 40% แม้ผู้โดยสารรู้จักและใช้บริการมากขึ้นกว่าช่วง 3 เดือนแรกที่มีผู้โดยสาร 500-600 คนต่อวันเท่านั้น แต่ก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ต้องมีผู้โดยสาร 3,000 คนต่อวันกิจการจึงจะอยู่ได้ จึงทำเรื่องเสนอสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่พิจารณาขอปรับขึ้นค่าโดยสารไม่เกิน 30 บาทตลอดสายจากที่เก็บอยู่ 20 บาทตลอดสายเทียบเท่าราคารถสองแถวสี่ล้อแดงที่เก็บอยู่ 30 บาท รวมทั้งได้ประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มนักท่องเที่ยวนักเรียน และนักศึกษาให้เข้าถึงการใช้บริการด้วยการเสนอราคาตั๋วรายเดือนและบัตรสมาชิกต่างๆ ที่มีโปรโมชั่น หรือส่วนลดควบคู่ด้วย  



นายภูวนารถ กล่าวต่อว่า กรณีภาครัฐจะก่อสร้าง โครงการรถไฟรางเบา (แทรม) เชียงใหม่รวม 3 เส้นทาง วงเงิน 8 หมื่นล้านบาทนั้น จากประสบการณ์การสมาร์ทบัสในเมืองเชียงใหม่ 3 สาย คือ สาย R1 สวนสัตว์เชียงใหม่-เซ็นทรัลเฟสติวัล, R2 ศูนย์การค้าพรอมเมนาดา-สนามบินเชียงใหม่ และ R3 วนซ้ายสนามบินเชียงใหม่พบว่า ปริมาณผู้โดยสารเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะไม่สามารถสร้างได้ด้วยเวลาอันรวดเร็ว ช่วงแรกผู้โดยสารมาใช้น้อยประกอบกับค่าโดยสารต้องไม่สูงเกินไปสำหรับชาวบ้านในท้องถิ่น ต้องเริ่มต้นไม่เกิน 30 บาท ชาวบ้านรับได้เพราะใกล้เคียงกับค่ารถประจำทางในตัวเมือง 20-30 บาท หากสูงเกินไปก็คงจะได้เห็นนักท่องเที่ยวมาใช้บริการเป็นส่วนใหญ่แต่ชาวบ้านคงไม่ขึ้น

นายภูวนารถ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความคุ้มค่าของโครงการที่มีมูลค่าลงทุนสูงต้องใช้เวลาคืนทุนนานพอสมควร อย่างไรก็ตามการพัฒนาแทรมใน จ.เชียงใหม่สามารถแก้ไขปัญหาจราจรได้อย่างยั่งยืนควบคู่กับการสนับสนุนให้ลดปริมาณยานพาหนะบนท้องถนนโดยเฉพาะในตัวเมืองเนื่องจากผู้ปกครองและวัยทำงานสามารถนำรถไปจอดตามจุดจอดแล้วจรขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า แล้วใช้แทรมไปจุดหมายปลายทาง สำหรับปัญหาจราจรระหว่างก่อสร้างคงไม่กระทบต่อการสัญจรและการท่องเที่ยวมากนัก เนื่องจากระบบรถไฟฟ้าแทรมสมัยใหม่มีแบบล้อยาง ดังนั้นไม่ต้องเสียพื้นที่ก่อสร้างในการวางระบบรางบนพื้นผิวถนนเพียงแต่ปิดพื้นผิวถนนบริเวณการก่อสร้างสถานีและทางยกระดับ